หมอยงเตือนปีนี้ ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ระบาดหนัก คาดกลุ่มนักเรียนเสี่ยงสูง แนะฉีดวัคซีนป้องกันทุกปี
เมื่อวันที่ 6 กันยายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัพเดตสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2024 และแนวโน้มในอนาคต ว่า ปีนี้เป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ หลังจากช่วงโรคโควิด-19 ระบาด จนทำให้อุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ลดน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่คาดว่าจะป่วย เป็นกันมาก เพราะไม่มีภูมิต้านทาน ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ แต่จะให้ความสำคัญกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มากที่สุด เพราะเกิดระบาดใหญ่ทั่วโลกได้ เนื่องจากติดจากคนสู่สัตว์ สัตว์สู่คนได้ แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B พบในมนุษย์เท่านั้น และเหลือเพียง Victoria ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C พบได้ 1-2 ราย ใน 1,000 ราย ของผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ
“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีความสำคัญมากกว่า รุนแรงกว่า ระบาดทั่วโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้มากกว่า จากการศึกษามาเป็น 10 ปี ไข้หวัดใหญ่พบได้ตลอดทั้งปี พบมากในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน แล้วจะค่อยๆ ลดลง จนพีคอีกครั้งในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่ในปีนี้ ไข้หวัดใหญ่ระบาดมากในเดือนมกราคม พบร้อยละ 13.50 ของโรคทางเดินหายใจ หมายความว่า ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 10 คน จะพบไข้หวัดใหญ่ 1 คน เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 1 ใน 4 ของโรคทางเดินหายใจ เป็นไข้หวัดใหญ่ เราทำการศึกษามาเรื่อยๆ โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบมากที่สุดเป็น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 ซึ่งพบมาตั้งแต่การระบาดครั้งใหญ่ในปี 2009 ทั่วโลกก็คล้ายกัน” ศ.นพ.ยงกล่าว และว่า ส่วนอายุที่พบบ่อยในไข้หวัดใหญ่ จากการศึกษา 8,842 ราย เรื่องโรคทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่ พบมากตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ เด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปีจะพบน้อยกว่าเด็กนักเรียน ซึ่งตรงข้ามกับโรคติดเชื้อ RSV ที่พบในเด็กเล็ก และเริ่มระบาดในเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เพียง 5 เดือนเท่านั้น
ศ.นพ.ยงกล่าวอีกว่า การตรวจวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ ตรวจได้ด้วยการตรวจน้ำเหลือง หรือแอนติบอดี แต่ที่ปัจจุบันนิยมกันมากคือ การตรวจ Rapid Diagnosis คล้ายกับการตรวจ ATK หากพบว่าขึ้น 2 ขีด แสดงว่าติดเชื้อ ทั้งนี้ ยังแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี และเห็นว่าวัคซีนแบบ 3 สายพันธุ์ก็เพียงพอ