‘สมศักดิ์’ ชี้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ สกัดผลกระทบต่อเด็กเป็นสำคัญ แต่ยังไม่ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ว่า นโยบายรัฐบาลให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาใช้ดำเนินการ สธ.ก็ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ไปขัดไม่ได้ ดังนั้น ต้องดูในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับในส่วนที่ต้องการจะดำเนินการในช่วงที่จะประกาศให้เป็นกัญชาเป็นยาเสพติด ซึ่งสามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องเขียนละเอียดมากขึ้น จะต้องอาศัยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย ว่าจะเพิ่มเติมอะไร อย่างไร ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … อยู่ในขณะนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว สามารถเพิ่มเติม หรือลดถอยเนื้อหาสาระลงบางส่วนได้
เมื่อถามถึง (ร่าง) พ.ร.บ.มีการกำหนด 3 วัตถุประสงค์ ที่อนุญาตให้บริโภค นายสมศักดิ์ กล่าว่า ยังไม่ทราบ ทุกอย่างไปตามเจตนารมย์ ยังไม่ได้ดูในรายละเอียด เพราะยังไม่ใช่สาระสุดท้าย จะต้องมีการฟังความคิดเห็นก่อน แล้วนำมาสรุปท้ายสุดอีกครั้ง
“ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเวลาว่าจะต้องแล้วเสร็จเมื่อไร ทำตามปกติไปเรื่อยๆ เสร็จเมื่อไรก็นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อนั้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
ต่อข้อถามว่า การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาของรัฐบาลจะไม่กระทบกับภาคธุรกิจที่มีการลงทุนไปมากแล้ว นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไม่กระทบต่อเด็กเป็นประเด็นสำคัญ ส่วนเรื่องของภาคธุรกิจนั้น หากต้องการให้เป็นพ.ร.บ.ก็ดำเนินการไป ให้ลงตัว
เมื่อถามอีกว่า (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็จะต้องมีประโยชน์ทั้งการควบคุมและการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็น พ.ร.บ.ต้องเขียนลงรายละเอียดมากขึ้น เมื่อเขียนไปแล้วยังไม่ครบถ้วนก็จะต้องปรับแก้ไปเรื่อยๆ
เมื่อถามต่อไปว่า กัญชาจะเป็นโมเดลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ขับเคลื่อนอยู่แล้วในตอนนี้ ไม่ได้ดูเลขว่ามีประโยชน์เท่าไร แต่ไม่ได้คิดจะไปต่อต้าน พยายามทำให้ดีที่สุดทั้งในมุมคุ้มครองประชาชนและส่งเสริมเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มีการนำ(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. … เปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 16-30 กันยายน 2567 ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th โดยหนึ่งในสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้บริโภคได้ใน 3 วัตถุประสงค์ คือ 1.การบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้กับมนุษย์ เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายหรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์,ทันตแพทย์ ,แพทย์แผนไทย,แพทย์แผนไทยประยุกต์, แพทย์แผนจีนหรือหมอพื้นบ้าน
2.การศึกษาวิเคราะห์หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ ศึกษาวิจัยหรือจัดการ เรียนการสอนสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ศึกษาวิจัย และจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ และ 3.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ,ยา, อาหาร, เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้