เครือข่ายแรงงาน แถลงหนุนค่าจ้างขั้นต่ำ 400 ทั้งประเทศ พร้อมกำหนดเป็นอัตราแรกเข้า
เมื่อวันที่ 24 กันยายน สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศ และประณามการใช้กลเกมประวิงเวลาปรับขึ้นค่าจ้าง
ข้อความระบุว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัญหา ต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลักทั้งเรื่องการค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดรายได้ ไร้อาชีพ ขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิต ยากจน มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 93 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขบวนการแรงงานจึงพยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างให้ไปไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่เป็นธรรม และ ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ แม้ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยาวนาน เห็นได้ว่าสังคมส่วนใหญ่ทั้งประชาชนทั่วไป พี่น้องสื่อมวลชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ต่างก็เห็นด้วย จึงนำไปกำหนดเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งงานวิจัยจำนวนมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็สนับสนุนการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งของกลุ่มทุน ที่เห็นเพียงแค่ประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะกลุ่ม มองผู้ใช้แรงงานเป็นเยี่ยงทาส ไม่เว้นแม้กระทั่งคนงานในสังกัดของตนเอง ไม่มีศีลธรรมและจริยธรรม ไม่เคารพในสิทธิแรงงานซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มองภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่สรรหาคำพูด หาเหตุผลอ้างอิง เพียงเพื่อธุรกิจของตนเอง เช่น “การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะได้เฉพาะแรงงานข้ามชาติ” ทั้งที่แรงงานข้ามชาติมีแค่ประมาณ 3 ล้านคน แต่แรงงานไทยอีกจำนวนมาก ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ คนทำงานบ้าน ลูกจ้างเหมาค่าแรง อีกจำนวนหลายล้านคนที่รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ
และที่เลวร้ายกว่านั้น ลูกจ้างในหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก ยังรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย แต่หากมองในมิติของการกดขี่ขูดรีดแล้ว การสูบกินมูลค่าส่วนเกินของคนงานก็เป็นเรื่องปกติของนายทุนเห็นแก่ตัวเหล่านั้น ซึ่งต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของเขา เพียงแต่ว่ารัฐบาล กลไกรัฐ กลไกของไตรภาคี จะยืนอยู่กับคนส่วนไหน คนส่วนน้อย หรือคนส่วนมาก นายทุนหรือผู้ใช้แรงงาน กลเกมในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของแต่ละคน แต่ละฝ่าย ที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าสถานะของคนงานไทย เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรั้งท้ายทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ภาวะความยากจน ความเหลื่อมล้ำล้วนอยู่ในภาวะวิกฤต การขัดขวางการปรับขึ้นค้าจ้างด้วยกลเกมต่างๆ ถือได้ว่า “เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายเศรษฐกิจไทย”
สสรท. และ สรส.ได้มีการจัดทำข้อมูล จัดทำงานวิจัย จัดเวทีเสวนา ออกแถลงการณ์ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลหลายครั้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา และล่าสุดในวันกรรมกรสากลที่ สสรท. และ สรส. จัดขึ้นหรือแม้กระทั่งเวที ที่สภาแรงงานทั้งหลายจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งในเวทีต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัดก็มีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะราคาสินค้าราคาไม่ได้แตกต่างกัน ต่างจังหวัดยังมีราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน แรงงานภาคบริการ
สสรท., สรส. และองค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท ในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงาน และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า รวมถึงให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน คนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และสังคมที่ดี เพราะเมื่อประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ก็จะเกิดการผลิตการจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ยั่งยืน
ต้องเข้าใจว่า คนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันกว่า 41 ล้านคน คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ หากไม่สามารถแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้ ก็อย่าไปคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้ การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งรัฐบาลต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมค่าครองชีพ อาทิ ราคาสินค้า ราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง การขนส่ง เป็นต้น ให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐ คือ รัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนที่จ้องเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชน และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหากทำได้จริงก็จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป