ปลัดฯแรงงานเผยมุ่งผลักดันนโยบายปี’68 เพิ่มเชื่อมั่น หนุนความเป็นธรรมคนทำงาน
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของปลัดกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ภายหลังเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน คนที่ 14 และปฏิบัติหน้าที่เป็นวันแรก
นายบุญสงค์ กล่าวว่า มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงานของประชาชนในประเทศ สำหรับนโยบายกระทรวงแรงงานปี 2568 ถูกออกแบบมา เพื่อตอบสนองความท้าทายด้านแรงงานในปัจจุบัน และส่งเสริมการสร้างระบบแรงงานที่มั่นคง มีประสิทธิภาพ และทันสมัย ที่มุ่งเน้นนโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง” ภายใต้การกำกับดูแลของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นเข็มทิศในการทำงาน ประกอบด้วย 1.หลักประกันทางสังคมเด่น คือ การดูแลสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองแรงงานการสร้างเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมอย่างยั่งยืน 2.เน้นทักษะทันสมัย คือ การยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม เช่น ทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่, ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ, ทักษะการใช้ภาษาที่ 2 และ 3 รวมถึง BCG
3.คนไทยมีงานทำ คือ การส่งเสริม และ การสร้างโอกาสในการทำงานในประเทศและต่างประเทศ สำหรับคนไทยในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มเปราะบาง, กลุ่มแรงงานในอนาคต 4.สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย คือ การพัฒนากฎหมายที่มีความทันสมัย และสอดคล้องต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์อันสูงสุดต่อแรงงานทุกคนพร้อมการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อดูแลสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มอย่างมีมาตรฐาน 5.เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง คือ การทำงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงแรงงาน ภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน เพื่อการขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล พร้อมการยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อการสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม พร้อมการนำข้อมูลจากฐานข้อมูลทุนมนุษย์มาใช้เพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ
นายบุญสงค์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรให้กระทรวงแรงงานเป็นที่ “ยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ” เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องแรงงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งตนจะดำเนินนโยบายหลักให้ทุกภาคส่วนให้ได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรม
นายบุญสงค์ ยังกล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ดังนี้
1) การลดอัตราเงินสมทบ ช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2567 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2568 โดยอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 และนายจ้าง ลดจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 และอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 5.9 (เหลือจ่ายสมทบเดือนละ 283 บาทต่อเดือน) ซึ่งสามารถลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตน ได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7,000 กว่าล้านบาท จำแนกเป็น สมทบฝ่ายนายจ้าง ประมาณ 3,400 ล้านบาท และผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 จำนวนประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เคยจ่ายเงินสมทบ 750 บาท ต่อเดือน (คำนวณจากเงินค่าจ้าง 15,000 บาท) จะได้ลดอัตราเงินสมทบเดือนละ 300 บาท เหลือจ่ายสมทบเดือนละ 450 บาท รวม 6 เดือน ได้ลดเงินสมทบคนละ 1,800 บาท สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท จะได้รับการลดอัตราเงินสมทบเดือนละ 149 บาท รวม 6 เดือน ได้ลดเงินสมทบ 894 บาท
2) การขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบ โดย สปส.ขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 งวดเดือนกันยายน – งวดเดือนธันวาคม 2567 ให้นายจ้างสามารถนำส่งเงินสมทบได้ภายใน 4 เดือน นับจากงวดที่ต้องนำส่ง ตามมาตรการ เช่น งวดเดือนกันยายน 2567 สามารถนำส่งได้ภายในเดือนมกราคม 2568
3) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ.2567 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน ในการเข้าถึงการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ลดภาระทางการเงินในการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยและส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกันตน วงเงินสินเชื่อในโครงการ 10,000 ล้านบาท ครอบคลุม 72 จังหวัด โดยวงเงินสินเชื่อกระจายตามสัดส่วนของผู้ประกันตนที่มีสิทธิในแต่ละจังหวัด ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท
นายบุญสงค์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดย สปส.ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้ประกันตน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงพัฒนาสิทธิประโยชน์ โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (ชุดที่14) ครั้งที่ 11/2567 มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งมีบุตรตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จากเดิม 800 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนาม โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ทั้งนี้ ให้ปรับอัตราเหมาจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเป็นอัตรา 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน สำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี และได้รับสิทธิคราวละไม่เกิน 3 คน
“ส่วนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนหลังน้ำลด จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ พะเยา สุโขทัย และน่าน กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอาชีพ เพื่อประชาชน ที่ประสบ ความเดือดร้อนให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวในระหว่างที่ไม่มีรายได้ โดยการจ้างให้ทำงานที่เป็นงานสาธารณประโยชน์ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานวันละ 300 บาท ด้วย ซึ่งผมในฐานะปลัดกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าผลักดันนโยบายให้พี่น้องแรงงานได้รับการคุ้มครองและการสนับสนุนที่เป็นธรรม และขอให้ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมแรงงานที่เข้มแข็งและมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป” นายบุญสงค์ กล่าว