สปสช.เปิดตัว ‘เคดีเคซี’ ศูนย์ล้างไตช่องท้องเอกชนแห่งแรกระบบบัตรทอง รับผู้ป่วยได้กว่าพันคน
วันนี้ (6 ตุลาคม 2567) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และ นพ.ชุติเดช ตาบองครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. เข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร โดยมี พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน หัวหน้าศูนย์ล้างไตช่องท้อง เคดีเคซี และคณะ ให้การต้อนรับ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องเคดีเคซี ถือเป็นศูนย์ล้างไตทางช่องท้องที่ให้บริการโดยภาคเอกชนแห่งแรกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ฉะนั้น การเปิดศูนย์ฯ ในครั้งนี้ จึงนับเป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะเดิมในระบบบัตรทองนั้น การล้างไตผ่านช่องท้องจะมีบริการเฉพาะที่หน่วยบริการภาครัฐเท่านั้น และอาจจะมีกฎกติกาที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการเข้ารับบริการของผู้ป่วยได้ แต่หากเป็นหน่วยบริการภาคเอกชนก็จะมีข้อดีเรื่องความยืดหยุ่น และยึดถือการให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยอย่างมาก
“การล้างไตทางช่องท้อง เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่มีความเหมาะสมกับบริบทและสภาพของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน เพราะผู้ป่วยหรือผู้ดูแลสามารถทำได้เองแม้อยู่ที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่หน่วยบริการเป็นประจำทุกสัปดาห์ เหมือนกับวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพียงแต่ประชาชนบางส่วนอาจยังติดภาพจำว่า การบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีเพียงวิธีการฟอกเลือดวิธีการเดียวเท่านั้น” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์น้ำท่วมที่ประเทศไทยกำลังประสบภัยอยู่ในเวลานี้ ทำให้ยิ่งเห็นชัดว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ใช้วิธีการบำบัดด้วยการล้างไตทางช่องท้องจะไม่มีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องในการรักษา เพราะหน่วยบริการจะดำเนินการจัดส่งน้ำยาล้างไตมาให้ถึงที่พัก ขณะที่ผู้ป่วยที่ใช้วิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไตเทียมจะต้องค้นหาคลินิกหรือโรงพยาบาลที่จะมาให้บริการในภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า มากไปกว่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา สปสช. ยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ที่มีข้อดี คือ ผู้ป่วยสามารถใช้เครื่องดังกล่าวในการล้างไตเพียงวันละ 1 ครั้ง เท่านั้น โดยใช้เวลาประมาณ 8 – 12 ชั่วโมง โดยเปิดให้เครื่องทำงานขณะนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนได้ ทำให้ผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD สามารถออกไปทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแบบคนทั่วไป ปัจจุบันพบว่า มีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 380 ราย ในปี 2564 เป็น 4,649 ราย ในปี 2567 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต อีกทั้ง สปสช.จะให้การสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ต่อไป เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
ด้าน พญ.ปิยะธิดา กล่าวว่า พันธกิจของศูนย์ฯ คือ การมุ่งเน้นการดูแลแบบองค์รวมและครบวงจร ผ่านการให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาเรื่องการบำบัดทดแทนไต การรักษาแบบประคับประคอง การวางสายล้างไตทางช่องท้อง รวมไปถึงการสอนขั้นตอนการล้างไตทางช่องท้องทั้งแบบเปลี่ยนน้ำยาด้วยมือ และการใช้เครื่อง APD เพื่อให้ผู้ป่วยมีทักษะการใช้งานเบื้องต้นสำหรับการดูแลตนเองที่บ้าน และจะมีการนัดหมายผู้ป่วยเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ในการตรวจดูอาการในภาพรวม นอกจากนี้ ยังมีบริการโภชนาการบำบัด การให้บริการโดยเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการตรวจเยี่ยมบ้านผู้ป่วย
พญ.ปิยะธิดา กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์ฯ มีผู้ป่วยที่ใช้บริการ จำนวน 420 ราย ซึ่งยังสามารถขยายจำนวนการให้บริการผู้ป่วยได้สูงสุดที่ 1,000 ราย เพราะจุดแข็งของศูนย์แห่งนี้ คือ การทำงานร่วมกับเครือข่ายสหวิชาชีพ อีกทั้งการล้างไตทางช่องท้องยังเป็นกระบวนการที่เน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยที่บ้านด้วย ทำให้ต้องดูแลผู้ป่วยร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน
“ผู้ป่วยสามารถที่จะเดินเข้ามารับบริการที่นี่ได้ หรือจะโทรศัพท์ไปเพื่อรับคำปรึกษาในเบื้องต้น ศูนย์ฯ มีความพร้อมและความยินดีที่จะให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลก่อนทำการล้างไต โดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะที่ 4 ที่ต้องได้รับการให้ข้อมูลมากกว่าหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย เพราะเราเน้นการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการรักษา” พญ.ปิยะธิดา กล่าว