‘สปส.’ จ่อถกเพดานค่ารักษาพยาบาล 17 ต.ค.นี้ ยันไม่เห็นรายชื่อ รพ.ถอนตัว
วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) ที่กระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) คนใหม่ นำคณะเข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อชี้แจงเรื่องสมาคมโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนขอให้พิจารณากำหนดเพดานค่ารักษาพยาบาลขั้นต่ำ และกรณีมีข่าวว่า รพ.เอกชน จำนวนหนึ่งได้แจ้งถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม
น.ส.ธีรา วีระวงศ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สปส. เปิดเผยภายหลังร่วมเข้าชี้แจง ว่า วันนี้เป็นการรายงานแผนการดำเนินงานของ สปส.ตามปกติ และแจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่าได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาดำเนินงานทบทวนหลักเกณฑ์อัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ โดยอนุกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น รพ.เอกชน รพ.รัฐบาล และตัวแทนจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม รวมกว่า 20 คน ซึ่งจะมีประชุมนัดแรกในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงานประมาณ 90 วัน
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้มอบหมายให้ทาง สปส. เร่งดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผลลัพธ์ของการบริการต้องส่งถึงผู้ประกันตนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน” น.ส. ธีรา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวกรณี รพ.เอกชน เตรียมถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม หลังกังวลว่าจะมีการปรับลดอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยใน (IP) ในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของปี 2567 น.ส.ธีรา กล่าวว่า สปส.ยังไม่ได้รับรายงานหรือรายละเอียดเรื่องนี้แต่อย่างใด
“มีแต่ทราบว่า ปีหน้ามีทั้ง รพ.เอกชน และ รพ.รัฐบาล จะเข้าระบบประกันสังคมเพิ่ม แต่ไม่เห็นรายชื่อ รพ.เอกชนที่จะถอนตัวออกจากระบบในปีนี้ ตอนนี้ไม่มีการลดงบประมาณหรืออัตราจ่ายชดเชยค่ารักษาโรคค่าใช้จ่ายสูงให้กับ รพ.เอกชน เนื่องจากเป็นกรอบวงเงินงบประมาณทั้งปีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการเบิกงบของ รพ. หากเบิกงบมาใช้ก่อนล่วงหน้า ปลายปีก็จะเหลือน้อย ซึ่งทางเราจ่ายค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้ รพ.ทุกเดือนในอัตรา 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW มาตลอด แต่มีแค่ช่วง 2 เดือนหลังนี้ (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2567) ที่จ่ายแค่ 7,200 บาทต่อหน่วย Adjusted RW” น.ส. ธีรา กล่าว