กทม.เตรียมมาตรการ รับมือสถานการณ์น้ำเหนือ น้ำหนุน น้ำฝน มั่นใจน้ำไม่ข้ามแนวเขื่อนป้องกันริมเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของ กทม., นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ร่วมแถลงถึงความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุนของกรุงเทพฯ พร้อมนำสื่อมวลชนสำรวจการเตรียมพร้อมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า จากสถานการณ์พื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กทม.ได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ตลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้
สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือ ใน 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำกักเก็บ 81% ยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่มอีก แต่ต้องคอยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และการบริหารจัดการของกรมชลประทาน
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2567 มีปริมาณน้ำผ่าน จ.นครสวรรค์ 2,338 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 20 ลบ.ม./วินาที) ปริมาณการระบายสูงสุดที่แม่น้ำรับได้ 3,660 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,199 ลบ.ม./วินาที (ทรงตัว) ปริมาณการระบายสูงสุดที่แม่น้ำรับได้ 2,730 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทร 1,830 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 39 ลบ.ม./วินาที) ซึ่งวันเดียวกันนี้เมื่อปี 54 ปริมาณน้ำที่บางไทรอยู่ที่ 3,288 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทรที่ กทม.ต้องเฝ้าระวัง คือ 2,500 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ กทม.ได้วางมาตรการรับมือน้ำให้กับชาวกรุงเทพฯ คือ 2 มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุน ประกอบด้วย 1. ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม 2. การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และ 3 มาตรการพร้อมรับสถานการณ์น้ำฝน ประกอบด้วย 1. ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน 2. เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ 3. เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า 2 มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุน คือ 1. ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ของ กทม. จากด้านใต้ถึงด้านเหนือ มีระดับสูง +2.80 ถึง 3.50 ม.รทก. (เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง) แนวริมแม่น้ำ 88 กม. เป็นแนวป้องกันของ กทม. 80 กม. แนวฟันหลอ 4.35 กม. (32 แห่ง) แนวของเอกชนและหน่วยงานอื่น 3.65 กม. (12 แห่ง)
สำหรับแนวฟันหลอ 32 แห่ง กทม.ได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ 14 แห่ง เช่น สะพานปลา ชุมชนวังหลัง ฯลฯ กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง เช่น วัดเทพนารี ฯลฯ (รวมความยาวที่แก้ไขได้ 2 กม.) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 9 แห่ง ส่วนแนวป้องกันของ กทม. ที่รั่วซึม 76 แห่ง ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ 45 แห่ง กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 แห่ง
ทั้งนี้ จุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุนบริเวณช่องเปิดท่าเรือต่าง ๆ รวมถึงบริเวณที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยมาตรการชั่วคราวโดยการเรียงกระสอบทราย ที่ระดับความสูง +2.30 ถึง +2.70 ม.รทก. และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงสุดที่จุดวัดน้ำปากคลองตลาด สูงประมาณ +1.50 ม.รทก. จากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง (ระดับคันกั้นน้ำ +3.00 ม.รทก.) ไม่กระทบต่อแนวพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ
2.การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย กทม.ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำหรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ คอยติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำได้ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย การทำสะพานทางเดินชั่วคราว การให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรับทราบสถานการณ์น้ำเหนือ และน้ำหนุน และจัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมาณน้ำฝนเดือน ต.ค. 67 อยู่ที่ 152 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 66 ขณะปริมาณฝนสะสมทั้งปี 67 อยู่ที่ 1,273 มิลลิเมตร มีค่าน้อยกว่าปี 66 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 1,369 มิลลิเมตร
โดย 3 มาตรการรับสถานการณ์น้ำฝน ประกอบด้วย 1. ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน โดยควบคุมระดับน้ำในคลอง แก้มลิง และ Water Bank 2. เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ อาทิ สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ขุดลอกคลอง 225 กม. และเปิดทางน้ำไหล 2,036 กม. แล้วเสร็จ 100% ล้างทำความสะอาดท่อกว่า 4,300 กม. แล้วเสร็จ 99% และ 3. เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำชนิดต่าง ๆ และหน่วย Best เป็นต้น
ด้าน นายเอกวรัญญูกล่าวว่า จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่ากรุงเทพฯ จะมีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเจ้าพระยาขึ้น-ลง เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น กทม.ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที
สำหรับประชาชน สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝนจาก กทม. ได้ที่ Website: http://dds.bangkok.go.th/ หรือ www.prbangkok.com Facebook: @BKK.BEST หรือ กรุงเทพมหานคร Twitter (X): @BKK_BEST กรุงเทพมหานคร
นอกเหนือจากการแจ้งเตือนของกรุงเทพมหานคร ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Real Time ได้ที่ Website: สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) https://tiwrm.hii.or.th/DATA/REPORT/php/chart/chaopraya/small/chaopraya.php
ทั้งนี้ หากต้องการแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โทร. 1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)