ส.ก.ยานนาวา ไม่ทนงานหยาบ หลัง ‘ผู้หญิงนิ้วขาด’ ขับหลบฝาถนนพระราม3 – ถามกลางสภากทม.ก่อสร้างเสร็จเมื่อไหร่?
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี คณะผู้บริหาร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าร่วมการประชุม
ในตอนหนึ่ง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคประชาชน ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบแผนการดำเนินการโครงการก่อสร้างในพื้นที่เขตยานนาวา โดยขอถามไปยังผู้ว่าฯ กทม. และฝายบริหาร ทั้งหมด 3 คำถาม ซึ่งเป็นคำถามเดิมๆ ที่เคยตั้งมาตั้งแต่ปี 2566 โดยในปี 2567 ก็มีการทวงถามอีกครั้งแล้ว
ประเด็นแรก กรณี เขื่อนป้องกันน้ำท่วมบริเวณคลองขุดวัดช่องลม ซึ่งได้รับงบประมาณตั้งแต่ปี พ.ศ.2567 เนื่องจากประชาชนในพื้นที่เขตยานนาวาได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมในบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ
“คำถามแรก เขื่อนป้องกันน้ำท่วมบริเวณคลองขุดวัดช่องลม ผมทราบว่าได้รับงบตั้งแต่ปี 2567 ปัจจุบันยังไม่คืบหน้า น้ำยังเข้าใต้สันเขื่อน ซึ่งเป็นแนวกั้นอยู่ดี งบประมาณจำไม่ผิดเป็นร้อยล้าน ไม่ทราบว่าจะเริ่มก่อสร้าง และแล้วเสร็จเมื่อไหร่” นายพุทธิพัชร์กล่าว
นายพุทธิพัชร์กล่าวต่อว่า กรณีที่ 2 มีบ้านเรือนชุมชนโรงสีในบริเวณแนวเขื่อนได้รับผลกระทบกว่า 300 หลังคาเรือน ซึ่งโครงการดังกล่าวยังไม่เริ่มโครงการ และปัญหาด้านการจราจรบริเวณที่มีการก่อสร้างพื้นฐานบนถนนพระรามที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการโครงการก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังไม่มีความคืบหน้า
“ผมทราบว่าทางพื้นที่เอกชน ก็ยินดีให้ กทม.เข้าไปบริหารจัดการอย่างเต็มที่ เลยอยากทราบว่า แผนป้องกันน้ำท่วมจุดฟันหลอ จุดสุดท้ายของเขตยานนาวา จะดำเนินการอย่างไร” นายพุทธิพัชร์กล่าว
นายพุทธิพัชร์กล่าวถึงประเด็นที่ 3 การนำสายไฟฟ้าลงดินของถนนพระราม 3 ซึ่งเกิดความล่าช้า และเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างทำให้ประชาชนเดือดร้อน
“ผมคร็อปภาพจากข่าวมา ไม่ทราบว่าการลาดยางมะตอยปิดงาน หลังจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟลงดิน เขาปิดแบบนี้จริงเหรอ เมื่อวานมีผู้หญิงขี่จักรยานยนต์ผ่านเส้นนี้ นิ้วขาด ก่อนหน้านี้ที่เคยคุยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีผู้สูงอายุขี่รถมอ’ไซค์ เพื่อจะกลับบางคอแหลม ก็ล้มหัวฟาดพื้น ตอนนี้ยังอาการหนัก และมีหลายครั้งที่รถพลิกคว่ำเพราะถนนเป็นคลื่น
“เมื่อก่อนถนนพระราม 3 สวยเป็นอันดับต้นๆ ของ กทม. แต่ผมไม่เข้าใจการทำงานแบบนี้ จะใช้คำว่าชุ่ยก็ได้ มันชุ่ยมาก ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีแผนแล้วเสร็จเมื่อไหร่ การทำงานแบบนี้คือมาตรฐานของ กทม.หรือไม่”
นายพุทธิพัชร์กล่าวต่อว่า ถ.พระราม 3 ปัจจุบันมีการก่อสร้างโรงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน กฟน.มีกำหนดส่งคืนพื้นที่เมื่อไหร่
“เมื่อปีกว่าๆ ที่เราได้คุยกัน ท่านรับปากว่า จะเสร็จปลายปี 2567 วันนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะปิดสมัยประชุม ถ้าผมไม่ถามวันนี้ ต้องรออีกทีปีหน้า ผมอยากได้คำตอบ เพราะพี่น้องประชาชนในเขตยานนาวารออยู่ เขาทนกับผู้รับเหมาที่ปิดงาน ปิดฝาไม่เรียบร้อย ฝาก็กระพือเวลารถเหยียบ ไม่เข้าใจว่าทำไมเขตชั้นใน ถึงดีกว่า พระราม 3 นี่เละ
2 ปีที่ทนกันมา วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ผมจะไม่ทน วันนั้นก็ทำแผนมาให้ 70 กว่าจุด 70 กว่าฝา ก็ยังไม่แก้ วันนี้หมดเวลารับปากแล้ว ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ ถ้าผู้รับเหมาเก็บงานไม่เรียบร้อยอย่างนี้ ต้องให้ข้าราชการเขต ไปนั่งเก็บ-กวาด ตามเช็ดให้ มันใช่เรื่องหรือไม่ ถ้าท่านเป็นคนยานนาวาท่านจะเข้าใจ ขออนุญาติถาม พอดีมันอัดอั้น” นายพุทธิพัชร์กล่าว
ด้าน นายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า งานปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณวัดช่องลมนั้น ได้ผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้วโดยเริ่มสัญญาวันที่ 5 กันยายน 2567 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 1 มิถุนายน 2568 โดยระหว่างนี้ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างและจัดเตรียมวัสดุในการดำเนินโครงการโดยคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ส่วนกรณี เขื่อนแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณชุมชนโรงสี สำนักการระบายน้ำร่วมกับสำนักงานเขตยานนาวา ก็ได้เจรจากับเจ้าของที่ดิน ในการสร้างแนวป้องกันเรียบร้อย เป็นลายลักษณ์อักษรเรียบร้อยแล้ว
“โดยสำนักการระบายน้ำจะนำไปประกอบกับการขออนุญาต ในการสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ กับกรมเจ้าท่า ต่อไป และตั้งงบประมาณในการก่อสร้างในปีงบประมาณ ปี 69 ต่อไป” นายวิษณุเผย
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาในการนำสายไฟฟ้าลงดินนั้น เป็นงานของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะ เขตยานนาวาเขตเดียวที่พบปัญหาทั้งถนนและทางเท้า แต่ยังมีอีกหลายเขต ที่มีการก่อสร้างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดย กทม.ได้มีการประชุมหารือกับการไฟฟ้านครหลวงบ่อยครั้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติระหว่างการก่อสร้างจะมีการระงับการก่อสร้าง จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขมาตราฐานให้ดีขึ้น จึงทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้ากว่ากำหนด
โดยการไฟฟ้านครหลวงได้ส่งแผนดำเนินการโครงการของถนนพระราม 3 ในช่วงถนนตก – สะพานพระราม 9 จะแล้วเสร็จช่วงเดือนพฤษภาคม 2569 ช่วงสะพานพระราม 9 – ถนนเรียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร – ถนนนราธิวาส จะแล้วเสร็จมกราคม 2568 ช่วงถนนนราธิวาส – วัดด่าน จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนเมษายน 2568 ช่วงวัดด่าน – สะพานพระราม 9 จะแล้วเสร็จในเดือรมกราคม 2568