เด็กพิเศษต้องเท่าเทียม! สภากทม.เชียร์ตั้ง ‘ศูนย์การศึกษาพิเศษ’ ลดเหลื่อมล้ำ ซัพพอร์ตใช้ชีวิตร่วมในสังคม
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง คณะผู้บริหารและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าร่วมการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567
โดยมี นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ขอลาประชุมในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 10.00-13.00 น. และ 15.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากติดภารกิจ โดยได้มอบหมายให้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. ปฏิบัติหน้าที่แทนในช่วงเวลาดังกล่าว
ในตอนหนึ่ง นางลักขณา ภักดีนฤนาถ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตตลิ่งชัน ได้อภิปรายญัตติ 7.2 เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานาครพิจารณาเปิดศูนย์การศึกษาพิเศษสังกัดกรุงเทพมหานคร (BMA Special Education Center)
นางลักขณากล่าวว่า นักเรียนทุกคนควรได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษ โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเสนอญัตตินี้ว่า ภายในปี 2568 หรือปี 2569 กรุงเทพมหานครจะมี ศูนย์การศึกษาพิเศษกรุงเทพมหานคร (BMA Special Education Center) ในพื้นที่โรงเรียนขนาดใหญ่ ที่จัดการศึกษาแบบเรียนรวม มีระบบบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ กลุ่มเขตละ 1 ศูนย์ รวม 6 ศูนย์
นางลักขณากล่าวว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษกรุงเทพมหานคร (BMA Special Education Center) มีเป้าหมายคือ ลดความยุ่งยากในการดำเนินการด้านการคัดกรอง
“ปัจจุบันมีความยุ่งยากแก่โรงเรียนต้นสังกัดที่ต้องคัดกรองเด็กด้วยตนเอง หากมีการจัดศูนย์การศึกษาพิเศษ ก็จะลดความยุ่งยากในขั้นตอนการคัดกรอง วินิฉัยทางการแพทย์แก่เด็กที่มีความเสี่ยงด้านการเรียนรู้แก่โรงเรียนสังกัด ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น มีเจตคติที่ดี แล้วก็ทำให้นโยบายการจัดการเรียนรวม บรรลุผลตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเชิงประจักษ์ที่ยั่งยืน” นางลักขณากล่าว
นางลักขณากล่าวต่อว่า โดยการดำเนินงานจะประสานจะต้องประสานงานกับ ทีมนักสหวิชาชีพจากโรงพยาบาล และศูนย์ประกันสาธาณสุขแบบเครือข่าย ความร่วมมือต่อเนื่องกับภาคีเครือข่าย กับมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และให้บริการแก่โรงเรียนในสังกัดกลุ่มเขตในด้านการทำงานกับทีมสหวิชาชีพ การบริการด้านวิทยาการทางการศึกษาพิเศษ และการจัดการเรียนรวม การส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาที่เป็นสากล
และมีแนวทางโดย คัดเลือกโรงเรียนที่มีระบบบริหารจัดการการศึกษาแบบเรียนรวมประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ ให้เป็นตัวแทนกลุ่มเขต มีผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นๆ บริหารจัดการ จัดเตรียมอาคารสถาน จัดทำศูนย์สื่อ บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือตามหลักการศึกษาพิเศษ
จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุน โดยส่วนมากมีมติเห็นชอบในญัตติดังกล่าว โดยมีความเห็นตรงกันวันว่า การศูนย์การศึกษาพิเศษกรุงเทพมหานครนั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ รวมถึงพัฒนาและจัดหาบุคลากรที่มีความสามารถในการดูแล กลุ่มนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษ ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเบื้องต้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ และจะดำเนินการส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณา ซึ่งจะมีการศึกษารายละเอียดในลำดับต่อไป