นับแสนแห่งไร้กองทุนเลี้ยงชีพ กสร.ชี้กม.3 ฉบับ ช่วยลูกจ้างเมื่อออกจากงาน ไม่ทำผิดกม.
กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ โดยมีเนื้อหาสำคัญ เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นหลักประกันในการทำงานให้กับลูกจ้างกรณีต้องออกจากงานหรือเสียชีวิต จึงต้องมีการเก็บเงินสะสม และสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไปนั้น
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่กระทรวงแรงงานเสนอครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.(ร่าง) พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. … 2.(ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. … และ 3.(ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. … ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ จากเดิมให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป เพราะกระทรวงแรงงานทราบถึงสถานการณ์สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกี่ยวพันกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
น.ส.กาญจนา กล่าวว่า สำหรับสถานประกอบการที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎกระทรวงนั้น จะต้องเป็นสถานประกอบการเอกชน ที่มีลูกจ้างภายในสถานประกอบกิจการตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ที่นายจ้างไม่ได้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างหรือสวัสดิการที่ดีหรือตามที่กฎหมายกำหนด
“ดังนั้น นายจ้างต้องจัดให้มีการสงเคราะห์ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ในร่างกฎกระทรวงนี้ ปัจจุบัน มีสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปราว 1.3 แสนแห่ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้องกว่า 9 ล้านคน แต่มีเพียงสถานประกอบการประมาณ 2 หมื่นแห่ง ที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” น.ส. กาญจนา กล่าว
รองอธิบดี กสร. กล่าวว่า การกำหนดอัตราเงินสะสมจากลูกจ้าง และเงินสมทบจากนายจ้าง ที่แต่ละฝ่ายจะต้องนำส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 – วันที่ 31 มีนาคม 2573 (ระยะเริ่มต้น 5 ปีแรก) ลูกจ้าง และนายจ้าง (แต่ละฝ่าย) ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราร้อยละ 0.25 ของค่าจ้าง ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง เป็นการยกระดับความคุ้มครอง หากเกิดเหตุการณ์ถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย
“สำหรับตัวกฎหมายนี้ เหมือนเป็นการออมระหว่างฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง เพื่อให้มีเงินสำรองไว้ในช่วงฉุกเฉิน เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในการทำงานระหว่างลูกจ้างและนายจ้างเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นหลักประกันให้ลูกจ้าง นอกเหนือจากกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ การจัดเก็บเงินสะสมและสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนี้ จะเป็นการชดเชยกรณีลูกจ้างลาออกจากงาน ไม่ว่าจะเป็นลาออกเอง ถูกเลิกจ้างโดยกระทำความผิดหรือไม่กระทำความผิด เกษียณอายุ และเสียชีวิต ก็จะได้เงินส่วนนี้ เพราะเป็นเงินสะสมและเงินสมทบที่นายจ้างต้องให้ลูกจ้างเป็นระบบบังคับ ต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นระบบสมัครใจ ขณะเดียวกัน จะต่างจากประกันสังคมที่ใช้บังคับตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ให้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี แต่มีอัตราการจ่ายเงินสมทบที่สูงกว่า คือ ร้อยละ5 ของค่าจ้าง แต่การเก็บสะสมและสมทบเพื่อทุนสงเคราะห์นี้จ่ายเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น” น.ส. กาญจนา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ จะมีมาตรการลงโทษอย่างไร น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ถือว่านายจ้างมีความผิด เพราะเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับ จะต้องมีการดำเนินกฎหมายตามคดีอาญาและคดีปกครองต่อไป
“ระหว่างรอระยะเวลาการบังคับใช้ ที่จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 กสร.จะวางแผนสร้างการรับรู้ผ่านทางสื่อต่างๆ และจะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบนี้ เพื่อความสะดวกและเป็นมาตรฐาน อีกท้้งยังมีคู่มือรายละเอียดสำหรับนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดย กสร. จะดำเนินการออกรายละเอียด ข้อยกเว้นการประเมินถึงผลกระทบและประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป” น.ส. กาญจนา