อย.-บก.ปคบ.เอาจริง! ตรวจซุปเปอร์มาร์เก็ตจีนย่านหลักสี่ พบสินค้าไม่ขึ้นทะเบียนกว่า1.2หมื่นชิ้น
วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2567) ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. เข้าตรวจซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติจีน ย่านหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบพบอาหารไม่เลข อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย จำนวน 14 รายการ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที ซอสในภาชนะบรรจุปิดสนิท เกลือบริโภค อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท วัตถุเจือปนอาหาร วัตถุแต่งกลิ่นรส อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท หมากฝรั่งและลูกอม น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท น้ำส้มสายชู อาหารทั่วไป น้ำมันและไขมัน และชา รวมทั้งสิ้น 12,454 ชิ้น และเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขที่จดแจ้ง ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ผ้าอนามัย และยาสีฟัน รวมทั้งสิ้น 127 ชิ้น จึงได้ตรวจยึดและส่งมอบของกลางดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“สำหรับความผิดเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 กรณีไม่ขอ อย. แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ไม่แสดงเลขสารบบอาหาร เป็นต้น มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ขายเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย. และ ตำรวจ บก.ปคบ. จะมีแผนในการตรวจเฝ้าระวังและตรวจสอบดำเนินคดี อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และในส่วนของต่างจังหวัดก็มีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน” ภก.เลิศชาย กล่าวและว่า ขอเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านค้าว่าต้องมีการคัดเลือกและความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้ามาจำหน่าย ด้วยการตรวจสอบฉลากรวมถึงการได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อนจำหน่ายแก่ผู้บริโภค
ภก.เลิศชาย กล่าวว่า สำหรับผู้บริโภคควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเครื่องหมาย อย. ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ สินค้ามีฉลากภาษาไทยแสดงข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง อาหารต้องมีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. เครื่องสำอางต้องมีเลขที่ใบรับจดแจ้ง เลือกซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ เพราะหากใช้แล้วเกิดปัญหาจะได้ติดตามย้อนกลับเพื่อตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ