ชัชชาติ ร่วมทำกิมจิ เนื่องในวันกิมจิ หนุนใช้ผักผลไม้ของประเทศไทย พร้อมส่งต่อกิมจิให้กลุ่มเปราะบางตามชุมชน
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายฮัม จองฮัน (Mr. HAHM Jeonghan) อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานวันกิมจิ จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย
โดยมี นางสาวอี ชอนจู (Ms. LEE Sunju) ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศเทศไทย, นายดาร์คีย์ อีเฟรอิม แอฟริกา (H.E. Mr. Darkey Ephraim Africa) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย, นายธัน พหาทุร โอลิ (Mr. Dhan Bahadur Oli) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย, นายลูวิช ดือ อัลบูแกร์ก วือโลซู (H.E. Mr. Luiz de Albuquerque Velso) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย, นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร ประขาชน เข้าร่วมงาน
ในการนี้ นายชัชชาติและผู้ร่วมงาน ร่วมทำกิมจิโดยใช้ผักกาดขาวและมะละกอของไทยเป็นวัตถุดิบ เต็มลานคนเมือง
นายชัชชาติกล่าวว่า กิมจิถือเป็นอาหารประจำชาติและซอฟท์พาวเวอร์อย่างหนึ่งของสาธารณรัฐเกาหลี ได้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกในฐานะตัวแทนของวัฒนธรรมอาหารของสาธารณรัฐเกาหลี และวัฒนธรรมการทำกิมจิ หรือ “กิมจัง” ยังได้รับเลือกให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ของยูเนสโกเมื่อปี 2556 อีกด้วย กิมจิเป็นอาหารที่ใช้เวลาในการทำไม่นานและมีคุณประโยชน์หลายอย่างที่ดีต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบขับถ่ายของร่างกายมนุษย์ เพราะมีส่วนประกอบหลักเพียงผัก ผลไม้ และเครื่องเทศ
นายชัชชาติกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้อยากให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคยได้สัมผัสถึงประสบการณ์ในการทำกิมจิ นอกจากนี้ ยังรู้สึกยินดีและภูมิใจที่ผักและผลไม้ของไทยอัน ได้แก่ ผักกาดขาวและมะละกอ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศไทยและมีราคาถูกได้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการทำกิมจิด้วย และหวังว่าผู้เข้าร่วมงานจะสามารถหาวัตถุดิบที่มีในประเทศไทย นำมาประยุกต์ทำกิมจิเพื่อเก็บไว้รับประทานได้ในทุก ๆ ครัวเรือน ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางอาหารที่สวยงามระหว่างสองประเทศอีกด้วย
“เชิญชวนประชาชนให้มาลองทำกิมจิ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ผู้ร่วมงานได้รับความรู้เพิ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นอาชีพด้วยการนำผักชนิดต่างๆ ของไทยมาลองทำกิมจิ ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งมีการนำผักกาดขาว มะละกอมาทำเป็นกิมจิแล้ว รวมถึงการจัดงานวันกิมจิ ก็เป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
ด้าน นายฮัม จองฮัน กล่าวว่า วัฒนธรรมเกาหลีและไทยมีความผูกพันกันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯล ที่จะพบร้านอาหารเกาหลีได้ทั่วไป ซึ่งในบรรดาอาหารเกาหลีนั้น กิมจิ แม้จะเป็นเครื่องเคียง แต่ก็มีความสำคัญ เนื่องจากจะอยู่ในทุกสำรับของทุกมื้ออาหาร และในโอกาสที่วันพรุ่งนี้ของทุกปี (22 พ.ย. 67) เป็นวันกิมจิ จึงเป็นโอกาสดีที่จะจัดกิจกรรมในวันนี้ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อดีของกิมจิ ทั้งด้านรสชาติ และคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ให้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
ผู้สื่อข่าวรายงายเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ได้ทำกิมจิในวันนี้ จะได้รับกลับบ้านไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะนำไปบริจาคให้กับชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงนำไปวางในพื้นที่จัดโครงการ BKK Food Bank ของแต่ละเขต ซึ่งนอกจากจะเป็นทั้งการช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีผ่านอาหาร ยังเป็นการกระจายอาหารที่มีคุณประโยชน์ ไปสู่กลุ่มเปราะบางในกรุงเทพฯ ด้วย
ทั้งนี้ สมาคมกิมจิแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประกาศให้วันที่ 22 พ.ย.ของทุกปีเป็น “วันกิมจิ” และจัดตั้งให้เป็นวันเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในประเทศเกาหลีตั้งแต่ปี 2563 เพื่อสื่อว่า เมื่อแทนวัตถุดิบของ “กิมจิ” แต่ละชนิดด้วยเลข “1” แต่ละวัตถุดิบรวมตัวกันเป็นกิมจิคือ “1 ต่อ 1” กลายเป็นเลข “11” ซึ่งตรงกับ “เดือนพฤศจิกายน” และการรับประทานกิมจิให้ประโยชน์ 22 อย่าง เช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ช่วยลดความเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบและมะเร็งลำไส้ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล มีโพรไบโอติกสูง ฯลฯ
โดยในปี 2564 ได้เริ่มมีการจัดตั้ง “วันกิมจิ” ในสหรัฐเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐเวอร์จิเนีย รัฐนิวยอร์ก รัฐมิชิแกน และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปจนถึงสหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐบราชิล และสาธารณรัฐอาร์เจนตินา การประกาศให้มีวันกิมจิในต่างประเทศ ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักกิมจิในฐานะอาหารที่เป็นตัวแทนสาธารณรัฐเกาหลี และเนื่องด้วยวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความสามัคคีในชุมชนพหุวัฒนธรรม “กิมจิ” จึงมีบทบาทในฐานะทูตวัฒนธรรมทางอาหารและได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศ นอกจากนี้ การทำกิมจิถือเป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชนที่เกิดจากความร่วมมือจากผู้คนจำนวนมาก และวัฒนธรรมการทำกิมจิของสาธารณรัฐเกาหลียังได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จาก UNESCO เมื่อปี 2556 อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 66 ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “เทศกาลกิมจิ” ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อส่งเสริมกิมจิและสัมผัสประสบการณ์ “กิมจัง” ซึ่งหมายถึง “การรวมตัวเพื่อทำกิมจิจำนวนมาก ๆ ในฤดูหนาว” โดยจัดขึ้นที่ศูนย์การค้า MBK Center ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทำกิมจิกว่า 400 คน ลงมือทำกิมจิกว่า 1,500 กิโลกรัม มีคุณยุน แดชุก ผู้เชี่ยวชาญอาหารเกาหลีและเจ้าของร้านอาหารเกาหลี “เมียงกา” เป็นผู้นำทำกิมจิ ส่วนผักกาดขาวสำหรับทำกิมจิได้นำเข้าจากจังหวัดแฮนัมที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมประกวดทำกิมจิที่ใช้วัตถุดิบของประเทศไทย การบริจาคกิมจิที่ทำในงานจำนวน 1,000 กิโลกรัม ให้กับมูลนิธิเอสโอเอสซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทยที่กู้ชีพอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ขาดแคลน และการแสดงทางวัฒนธรรมเกาหลีต่าง ๆ เช่น เทควันโด ซามุลโนรี
ในปีนี้ ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทยจัดกิจกรรม “วันกิมจิ” ขึ้นอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ได้คำนึงถึงปัญหาสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ผักกาดขาวและหัวไชเท้าซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในสาธารณรัฐเกาหลีมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก และเพื่อให้วัฒนธรรมการทำกิมจิที่ดีงามนี้ไม่ให้เลือนหายไป ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จะเลือกใช้วัตถุดิบหลักอย่างผักกาดขาวของประเทศไทยและประยุกต์วัตถุดิบผักผลไม้อื่น ๆ ของประเทศไทยให้กลายเป็นกิมจิได้ ทำให้งานนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการผนวกและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารและของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี