ชัชชาติ แอ่นอก ‘รับผิดคนเดียว’ แจงพลาดกั้นเลนทางเดิน ไม่ได้ถามครบทุกกลุ่ม สั่งคืนทางสัญจร ถ.สุขุมวิท39 กลับมาวิ่ง 2 เลน – ต้องทดลองให้ละเอียดขึ้น
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีปรับการจราจรที่ซอยพร้อมจิต สุขุมวิท 39 เขตวัฒนา เพื่อแยกเลนจักรยานและคนเดิน ส่งผลให้เสียช่องเดินรถไป 1 เลน และมีผลทำให้รถติดขัดนั้น
นายชัชชาติกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความต่อเนื่องมานานซึ่งอยากจะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่เดินได้ มีจักรยานเป็นทางเลือกในการเดินทางอีกแบบ สำหรับโครงการนี้มีความร่วมมือจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ มีทูตจักรยาน (Bicycle embassy) ไปหลายเมืองทั่วโลก เพื่อทดสอบว่าจะนำความรู้มาปรับปรุงและทดลองใช้อย่างไร
“เมื่อปี 1970 เนเธอร์แลนด์การจราจรติดขัดกว่ากรุงเทพฯ รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ประชาชนจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้ความสำคัญกับรถให้น้อยลงและมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น นับจากนั้น 50 ปีก็สามารถเปลี่ยนเมืองให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้นใช้ทางเดินเท้ามากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.มีการปรับปรุงมาหลายจุด มีการตีเส้นเป็นเลนจักรยาน มีการปรับปรุงทางเท้ากว่า 1,000 กิโลเมตร ทั่วกรุงเทพฯ โดยโครงการที่เกิดขึ้นที่ซอยสุขุมวิท 39 ก็เป็น 1 ใน 4 จุดที่มีการปรับปรุง ซึ่งทดลองใช้ทั้งหมดในพื้นที่ สามยอด, ลาดพร้าว 71, ท่าพระ และซอยสุขุมวิท 39 มองว่าเป็นชุมชนที่มีถนนสองเลน หากสามารถกั้นเลนจักรยานและให้คนเดินได้ใช้วีลแชร์ ใช้รถเข็นเด็กได้ แต่การปรับปรุงอาจไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดว่าบริเวณนั้นเป็นทางผ่านไม่ได้มีผู้ใช้ถนนเฉพาะแถวนั้น ล่าสุด กทม.ได้ปรับปรุงแก้ไขให้สามารถใช้สัญจรได้ 2 ช่องจราจรเหมือนเดิม
“น้อมรับและขอโทษทุกคน ผมเองเป็นหัวหน้าหน่วยงานก็ต้องรับผิดเพียงผู้เดียวไม่ต้องเป็นห่วง แต่ทุกอย่างเป็นความตั้งใจที่ดีเพื่อพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย กรุงเทพฯก็จะเป็นแบบเดิม รถติดหนักขึ้น การเปลี่ยนแปลงมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เป็นสิ่งที่ดีและทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
บางทีต้องคิดให้รอบคอบ คิดให้ละเอียด เรื่องนี้อาจจะพลาดในแง่ที่ยังไม่ได้ถามคนครบทุกกลุ่ม เช่น ผู้ที่สัญจรผ่านถนนก็ถามได้ยาก รวมถึงการทดลองการจราจรโดยใช้คอมพิวเตอร์ (traffic simulation) ซึ่งต้องทำให้ละเอียดมากขึ้น
เชื่อว่าในภาพรวมจะดีขึ้นเพราะมีการแบ่งช่องทางจราจรให้คนเดินเท้าได้ ขณะที่ภาพรวมการทดลองอีกสามจุดยังไม่พบปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่าทีมงานที่ทำงานทุกคนมาด้วยใจ ไม่มีใครมีผลประโยชน์และอยากเห็นกรุงเทพฯดีขึ้น” นายชัชชาติกล่าว