สธ.ระดมช่วยภาคใต้ ส่ง 87ทีมดูแลจิตใจเหยื่อท่วม ย้ายผู้ป่วย 4 รพ.ที่ปิดเรียบร้อย
วันนี้ (1 ธันวาคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ได้รับรายงานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 7 จังหวัด 328 อำเภอ โดยในจำนวนนี้ มีสถานการณ์รุนแรง 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สธ.จึงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ระดับจังหวัดแล้ว รวมถึงในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ก็ได้ เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับเขตแล้วเช่นเดียวกัน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบแล้ว 129 แห่ง โดยได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหาย 85 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาล (รพ.) 8 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 77 แห่ง ซึ่ง รพ.ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีความจำเป็นต้องหยุดบริการแล้ว จำนวน 4 แห่ง คือ รพ.ยะหริ่ง รพ.ทุ่งยางแดง รพ.หนอกจิก และ รพ.แม่ลาน โดยทั้งหมดได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยในไปรักษาตัวต่อเนื่องที่ รพ.ปัตตานี แล้ว ซึ่งเปิดหอผู้ป่วยเฉพาะกิจเตรียมรับไว้แล้ว รวมถึงได้จัดตั้ง รพ.สนาม ในพื้นที่ เพื่อให้บริการผู้ป่วยต่อเนื่องของทั้ง 3 รพ. แต่ยกเว้น รพ.หนองจิก เนื่องจากอยู่ใกล้ รพ.ปัตตานี ในระยะ 10 กิโลเมตร จึงให้ผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ.ปัตตานี ชั่วคราว ส่วน รพ.สต.ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 77 แห่ง พบว่า ต้องปิดการให้บริการแล้ว 22 แห่ง
“จากรายงานพบว่า ในพื้นที่ประสบอุทกภัยมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 2,297 คน ซึ่งได้รับการดูแล และไม่มีรายงานกลุ่มเปราะบางตกค้างในพื้นที่เสี่ยง โดยเรื่องนี้ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนโดยตรง จึงได้เน้นย้ำให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด รวมถึงผมยังมีความห่วงใยเรื่องความเครียด จึงได้มอบหมายให้ ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จำนวน 87 ทีม ลงพื้นที่แล้ว โดยได้ลงปฏิบัติงานชุดแรก จำนวน 44 ทีม เพื่อดำเนินการ คือ 1.จัดทีมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ดังกล่าว 2.เฝ้าป้องกันกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีความอ่อนไหวทางด้านจิตใจ กลุ่มผู้ช่วยเหลือ 3.ค้นหา ส่งต่อ เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ขาดยาเด็ดขาด ผู้ป่วยติดสุรา ขาดสุราหรือหยุดดื่ม ให้เตรียมยาป้องกันอาการลงแดง นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้บุคลากรทางการแพทย์ สำรองเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นด้วย เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายสมศักดิ์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวอีกว่า สธ.ยังได้มีการวางระบบเฝ้าระวังโรคในศูนย์พักพิงชั่วคราวด้วย โดยเฝ้าระวังโรคระบาดใน 6 กลุ่มโรคหลัก คือ กลุ่มโรคทางเดินอาหาร กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อนำโดยยุง กลุ่มโรคที่เกิดจากบาดแผลอักเสบติดเชื้อ กลุ่มโรคอุบัติเหตุไฟช็อต จมน้ำ และโรคที่เกิดจากการทำงานของกลุ่มประชาชน จิตอาสา อาสาสมัคร ซึ่งขณะนี้ ยังไม่พบสัญญาณการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคเลปโตสไปโรซิส ไข้เลือดออก โรคอาหารเป็นพิษ และโรคเมดิอยด์โรซิส
“ขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงอุทกภัย รวมถึงช่วงหลังน้ำลดด้วย เพราะต้องช่วยฟื้นฟูด้านสาธารณสุข ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านสุขศึกษา เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ติดตามสุขภาพร่างกาย จิตใจ ผู้ที่อยู่ในศูนย์ วางแผนการจัดการดูแลผู้ป่วย และแจกจ่ายยาน้ำกัดเท้า ชุดยาสามัญประจำบ้านด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัด สธ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 37/2567 ว่า ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 6 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ สตูล ในรอบวันที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย บาดเจ็บสะสม 12 ราย และสูญหายอีก 1 ราย
สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 124 แห่ง ได้แก่ สงขลา 32 แห่ง ปัตตานี 38 แห่ง ยะลา 28 แห่ง และ นราธิวาส 26 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น รพ.สต. ในจำนวนนี้สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ 12 แห่ง ปิดบริการบางส่วน 8 แห่ง และปิดบริการทั้งหมด 104 แห่ง โดยโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ใน จ.ปัตตานี ได้แก่ รพ.ยะหริ่ง รพ.ทุ่งยางแดง รพ.หนองจิก และ รพ.แม่ลาน ที่ปิดบริการไปนั้น ระดับน้ำเริ่มมีแนวโน้มลดลง ทีมปฏิบัติการสนับสนุนระบบบริการด้านสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน (MSERT) ได้วางแผนเข้าฟื้นฟูระบบไฟฟ้า ระบบประปา อุปกรณ์การแพทย์ โรงซักฟอก และหน่วยจ่ายกลาง ช่วงวันที่ 1-8 ธันวาคมนี้ เพื่อให้กลับมาบริการผู้ป่วยได้เร็วที่สุด
นพ.ศักดา กล่าวว่า หน่วยงานในพื้นที่มีการจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขออกให้บริการประชาชน ทั้งเยี่ยมบ้าน ให้สุขศึกษา ตรวจรักษา และส่งต่อ รวมทั้งสิ้น 69,741 ราย โรคที่พบมากสุด คือ น้ำกัดเท้า ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน สำหรับกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลรวม 8,151 ราย มากสุดคือ ผู้สูงอายุ 4,593 ราย รองลงมา ผู้พิการ 2,034 ราย ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 811 ราย หญิงตั้งครรภ์ 91 ราย และอื่นๆ (จิตเวช/ฟอกไต ฯลฯ) 622 ราย
ส่วนการให้บริการด้านสุขภาพจิต จากการตรวจคัดกรอง 5,320 ราย พบมีภาวะเครียดสูง 5 ราย เจ้าหน้าที่ได้ให้การดูแลแล้ว นอกจากนี้ สสจ.ต่างๆ ได้แก่ นครราชสีมา พิษณุโลก อ่างทอง หนองคาย ตาก นนทบุรี บึงกาฬ เชียงราย และสถาบันโรคผิวหนัง ยังสนับสนุนยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 15,748 ชุด และยารักษาน้ำกัดเท้า 16,308 ชิ้น ลงช่วยเหลือพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ยังไม่พบการระบาดของโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม แต่ได้กำชับให้มีการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นจากการอยู่รวมกันของคนหมู่มากในศูนย์พักพิงทั้ง 434 แห่ง และให้ 5 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินถล่ม ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย