สหประชาชาติ แนะรัฐไทยปลดล็อก ‘Sex Worker’ ต้องเลิกผิดกม. อึ้ง! ผู้ต้องขังหญิงติดท็อป 4 โลก
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 ธันวาคม ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ชั้น 4 ห้อง Studio R6 คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง (WGDAWG) แถลงข่าวสถานการณ์ด้านสิทธิฯ ภายหลังการมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกตามคำเชิญของรัฐบาลระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคมที่ผ่านมา
โดย ไฮนา ลู (Haina Lu) และ อิวาน่า คริสติค (Ivana Krstić) ตัวแทนสมาชิกคณะทำงาน ได้ประเมินความคืบหน้าและข้อท้าทายในการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในการมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ รวมถึงพิจารณาหลายแง่มุมของชีวิตผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เผชิญรูปแบบการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อนแตกต่างกันไป ซึ่งมีการหารือทั้งในกรุงเทพมหานคร, แม่สอด, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ รวมถึงพบปะเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานสหประชาชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คณะทำงานจะนำเสนอรายงานฉบับเต็มของการเยือนประเทศไทยดังกล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) สมัยที่ 59 ในเดือนมิถุนายน 2568 ต่อไป
โดยสาระสำคัญของรายงานระบุว่า ไทยอยู่ในจังหวะสำคัญที่จะก้าวเป็นแบบอย่างของความเท่าเทียมทางเพศในภูมิภาค โดยออกแถลงการณ์ชื่นชมที่มีความก้าวหน้าด้านสิทธิผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ทั้งด้านกฎหมายและในเชิงสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษา สาธารณสุข และการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลต่อช่องว่างที่สำคัญในการบังคับใช้นโยบาย ซึ่งขัดขวางการบรรลุความเสมอภาค โดยเสนอแนะว่ากลไกขับเคลื่อนเรื่องผู้หญิงระดับชาติ ควรได้รับการสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงบุคลากร ซึ่งการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศ ยังเป็นหนึ่งในคำมั่นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในตอนหนึ่ง อิวาน่า คริสติค กล่าวว่า ในเครื่องความรุนแรงทางเพศ เราเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการ ‘ไซเบอร์บูลลี่’ หรือการเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้เกิดอันตราย เป็นความท้าทายของรัฐบาลไม่ให้การล่วงละเมิดและตักตวงผลประโยชน์จากผู้หญิง
เรื่อง ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ ผู้มีอำนาจจำเป็นต้องเจรจา ไกล่เกลี่ย หากเกิดเหตุเหล่านี้ โดยเน้นย้ำแนวทางดูแลเหยื่อ ‘ให้เหยื่อเป็นศูนย์กลางของกระบวนการ’ นอกเหนือจากนี้ แม้ว่ากฎหมายไทยจะไม่ให้มีการล่วงละเมิด แต่ยังพบว่าในออนไลน์ยังมีช่องโหว่บางส่วน บทลงโทษค่อนข้างจะเบาเมื่อเทียบกับโทษอาญาหรือโทษทางอื่น รัฐบาลจึงอาจปรับโทษให้เหมาะสม รวมถึงกลไกการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ในหน่วยงาน
นอกจากนี้ เรายังพบเรื่อง ‘การขลิบอวัยวะเพศหญิง’ และเก็บข้อมูลจริงจัง ว่าทำมากน้อยแค่ไหนในระดับไหน และจัดการความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ผิดๆ ที่อาจส่งผลเสียรุนแรงในสังคม
“อยากแนะนำให้รัฐบาลไทยเลิกทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เราอยากให้เขาเข้ารับบริการทางสุขภาพได้อย่างเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลควรดำเนินการบูรณาการในการดูแลเหยื่อ แต่ในทางปฏิบัติเองเราก็พบว่ายังมีทีมงานไม่เพียงพอในศูนย์ต่างๆ ซึ่งน่าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น” อิวาน่า คริสติค กล่าว และว่า
เราพบมาตรฐานที่ต่างกันในการรับคนเข้าศูนย์ดูแลเรื่อง HIV รวมถึงมีการให้ข้อมูลไม่เพียงพอ หรือกว่าจะเข้าไปในศูนย์พักพิงได้ ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนขึ้นไป เป็นต้น
เมื่อประเทศไทยเคารพหลักการ 3P ในการป้องปรามและคุ้มครอง ก็อยากให้ดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ ซึ่งมาจากปัญหาความยากจนและการขาดบริการพื้นฐาน อยากให้รัฐบาลใส่ใจกับโครงการต่างๆ เพื่อดูแลเหยื่ออย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องรอนาน หรือปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎที่มากจนเกินไป
โดยในกระบวนการยุติธรรมเอง ก็มีอุปสรรคในการเข้าถึง เช่น ต้นทุน รวมถึงอุปสรรคทางด้านภาษาในบางกลุ่ม ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ปรากฏหลายครั้ง ซึ่งเป็นต้องตัดสินในชั้นศาลแต่ก็ไปไม่ถึงศาล สะท้อน ‘อคติทางเพศสภาพในกระบวนการยุติธรรม’ จึงควรต้องมีการอบรมและส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
อิวาน่า คริสติค เผยว่า การมาเยือนครั้งนี้ ไทยเจอน้ำท่วมหนักเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่และมีแผนการ โดยควรใส่ใจเรื่องเกี่ยวกับเด็กและผู้หญิง คนที่ต้องทำงานในสภาพความร้อนสูง เช่น ทำงานในไร่นา ต้องขายของกลางแจ้ง เมื่อเกิดเหตุผู้หญิงมักเป็นกลุ่มที่เจอผลกระทบที่รุนแรง จึงอยากให้คำนึงถึงการคุ้มครอง รวมถึงจัดการสภาพทางภูมิอากาศ และการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
“ในรายงานเบื้องต้น เราได้เน้นย้ำว่าอะไรคืออุปสรรคหลัก ที่คนชายขอบเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐาน ซึ่งในรายงานเรายังมีการพูดถึงเด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่มีภาวะพิการ ในมิติการเข้าศึกษา ทำงาน และการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าจากรายงานของเรา จะเห็นเรื่องการล่วงละเมิด การปฏิเสธสิทธิพื้นฐานสำหรับเด็กและผู้หญิง ที่มีภาวะพิการด้วย”
“ในกระบวนการสันติภาพ เด็กผู้หญิงและผู้หญิง อาจจะไม่ค่อยมีส่วนร่วม รวมถึงมีมาตรฐานทางสังคมที่เป็นอุปสรรคทำให้หลายคนต้องทนทุกข์กับสภาวการณ์ที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต ขาดการสนับสนุนทางจิตใจ เมื่อซ้อนทับกับความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจ ก็นับว่าเป็นปัญสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณา” อิวาน่า คริสติค ชี้
อิวาน่า คริสติค ระบุว่า ยังมีกลุ่มผู้หญิงที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทัณฑสถาน ไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็น ‘ผู้หญิง’ มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกก็ว่าได้ โดย 1 ใน 4 มาจาก ‘คดียาเสพติด’ และยังมีจำนวนมากถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งเราเสนอให้รัฐบาลมี ‘กระบวนการทางเลือก’ โดยเฉพาะกลุ่มแม่ลูกอ่อนและสุภาพสตรีที่ตั้งครรภ์ รวมถึงกลุ่มผู้ลี้ภัยด้วย ที่ขาดสิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน โดยเฉพาะในค่ายกักกัน หรือค่ายผู้ลี้ภัย
ในเรื่อง ‘ชนกลุ่มน้อย’ ชาติพันธุ์ ชนเผ่า พบว่ามีอุปสรรคล้ายกันในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน ซึ่งไทยอาจมองข้ามจุดนี้ไปค่อนข้างเยอะ ทั้งในเรื่องบริการด้านการศึกษาและสุขภาพ มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เข้าไม่ถึง รวมถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคด้วย
“สุดท้ายอยากบอกว่า ไทยกำลังเผชิญหน้ากับสังคมสูงวัย รวมถึงด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและสถานการณ์ในประเทศ เราสังเกตเห็นว่าบางคนประสบปัญหาความอยากจนอย่างรุนแรง ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจ
แต่ก็นับว่า เราได้เห็นความก้าวหน้าไม่น้อยในเรื่องโครงสร้างกฎหมาย ความเท่าเทียมทางเพศ เราอยากสื่อว่า ไม่ควรมีเด็ก หรือผู้หญิงคนไหน ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หวังว่ารัฐบาลไทยจะสามารถเปิดรับและสร้างโอกาสให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้เพื่อให้เธอ เป็นตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่จะส่งมอบคุณค่าสู่สังคมได้อย่างเต็มที่” อิวาน่า คริสติค กล่าวทิ้งท้าย