ผู้เชี่ยวชาญแรงงานชี้ค่าจ้าง 400 ไม่ใช่เหตุของเงินเฟ้อ แนะปรับเท่ากันทั่วปท.

ผู้เชี่ยวชาญแรงงานชี้ค่าจ้าง 400 ไม่ใช่เหตุของเงินเฟ้อ แนะปรับเท่ากันทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์พิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในบางสาขาชีพและบางกิจการ ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือ บอร์ดไตรภาคี ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่การปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท จะต้องอิงตามสภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนไทยเป็นหลัก ซึ่งต้องนับตั้งแต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งก่อนจนถึงปัจจุบัน โดยเงินเฟ้อที่นำมาพิจารณาจะต้องบ่งบอกถึงการใช้จ่ายจริงของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นผลของเงินเฟ้อ ไม่ใช่สาเหตุ หากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แปลว่ามีการฉวยโอกาสที่จะขึ้นราคาสินค้า การขึ้นค่าจ้างเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของค่าจ้างทั้งหมด ซึ่งค่าจ้างทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนโดยรวม การปรับค่าจ้างจึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนสูงจนต้องมีการขึ้นราคาสินค้า

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีบอร์ดค่าจ้างระบุว่าไม่ได้มีการตั้งธงตัวเลข และอาจจะไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า โดยหลักการ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรสอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งความคิดเดิมคือ ค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน แต่ ณ ปัจจุบัน วิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงานมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ ประกอบกับ ค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดก็คล้ายๆกัน เช่น ทุกวันนี้ลูกจ้างทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน มี 1 วันที่ลูกจ้างไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจำเป็นต้องไปซื้อสินค้าจากร้าน ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่ขายสินค้าราคาเท่ากันทั่วประเทศ แปลว่า ค่าครองชีพของลูกจ้างทั้งประเทศเท่ากัน ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ จึงต้องทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการครองชีพของลูกจ้างในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ควรจะได้ค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำนไม่ได้มองที่ตัวเลขใด แต่มองว่าต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกจ้าง

“ที่ไม่ใช่ตัวเลข 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ อาจเป็นเพราะมีกระบวนการระดับจังหวัด คือ คณะอนุกรรมการฯ จังหวัด ที่รวบรวมข้อมูลและเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำส่วนกลางทั้ง 3 ฝ่าย แต่พบปัญหาคือ ในบางจังหวัดอาจไม่มีอำนาจต่อรองมากพอ หรือไม่มีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ทำให้ในหลายๆจังหวัดไม่ขอปรับขึ้นค่าแรง ดังนั้น ตัวเลขค่าจ้างของแต่ละจังหวัดเสนอมาในอัตราที่แตกต่างกัน จึงไม่ได้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพอย่างแท้จริง แต่เป็นการสะท้อนถึงอำนาจต่อรองที่ต่างกันระหว่างจังหวัดที่มีอำนาจแข็งแกร่งกับจังหวัดที่ไม่มี จึงกลายเป็นว่า จังหวัดที่เสนอตัวเลขขั้นต่ำที่น้อย แปลว่าลูกจ้างไม่มีปากเสียง” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ADVERTISMENT

เมื่อถามว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท จะทันเป็นของขวัญปีใหม่หรือไม่ ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า ในแง่ของการเมือง ก็ควรจะมีของขวัญให้ประชาชน เพื่อให้รัฐบาลได้คะแนนเสียง เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลเคยกล่าวไว้ว่าจะขึ้นค่าแรง 400 บาท ให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ 2568 จึงเป็นโอกาส หากรัฐบาลสามารถทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นได้ ไม่มีจังหวะอะไรที่เหมาะสมเท่ากับการขึ้นค่าแรงเป็นของขวัญปีใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image