เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก เฝ้าระวังเข้มงวดกับสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาตกโรค ในเมืองฉ่วยโก๊โก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านวังผา อ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยมีอาการอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงกว่า 300 ราย เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 132 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ส่งยา วัคซีน เกลือแร่ (ORS) ชุดเก็บตัวอย่างและเวชภัณฑ์ รวมถึงชุดทดสอบคุณภาพน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ไปยังโรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลแม่ระมาด จ.ตาก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“จากการประเมินสถานการณ์อาจพบผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายแดน จึงขอความร่วมมือประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ให้ปฏิบัติตามประกาศและคำแนะนำของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด งดการเดินทางผ่านช่องทางท่าข้าม และช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดการแพร่กระจายโรค” นพ.ภาณุมาศกล่าว
นพ.ภาณุมาศกล่าวต่อว่า สถานการณ์อหิวาตกโรคในประเทศไทย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-24 ธันวาคม 2567 พบรายงานผู้ป่วยยืนยันอหิวาตกโรค จำนวน 8 ราย พบเชื้อ Vibrio cholerae O139 จำนวน 3 ราย, เชื้อ Vibrio cholerae El Tor Inaba 1 ราย และจากการระบาดครั้งล่าสุดพบเชื้อ Vibrio cholerae El Tor Ogawa 4 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยเป็นเพศชาย 3 ราย เพศหญิง 5 ราย สัญชาติไทย 6 ราย และเมียนมา 2 ราย ส่วนมากพบผู้ป่วยในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม มิถุนายน ตุลาคม และธันวาคม โดยที่ผ่านมาพบการระบาดเป็นวงกว้างในปี 2553 และ 2558
นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า อหิวาตกโรคเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่มีความรุนแรง หากควบคุมโรคไม่ดีจะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือระบาดเป็นวงกว้างได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักมีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำหลายครั้ง โดยมักมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก ในกรณีที่ไม่สามารถให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนได้ทัน ผู้ป่วยจะมีภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อบางส่วนแสดงอาการน้อย หรือไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ ซึ่งในประเทศไทยพบการระบาดของอหิวาตกโรคเป็นระยะ และมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือเป็นอาหารค้างมื้อ
นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า การดูแลสุขอนามัยจึงมีความสำคัญ วิธีการป้องกันตนเองจากอหิวาตกโรค การดูแลสุขอนามัยด้านอาหารและน้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญ ให้เลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง โดยยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หากมีอาการถ่ายเหลวในระหว่างที่ยังไม่สามารถไปพบแพทย์ ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422