หมายเหตุ – ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์พิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์แรงงานไทย ปัญหาและทางออก
ปัจจุบันสถานการณ์แรงงานไทยยังเป็นไปในลักษณะเฉื่อยเนือย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่เติบโต ขณะที่ผู้ใช้แรงงานมีความรับผิดชอบในชีวิตเพิ่มขึ้น รายจ่ายของคนงานเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แปลว่า มีเงินเท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยลง หากรายได้ไม่สอดคล้องในอัตราที่สามารถชดเชยเงินเฟ้อได้ จะทำให้ฐานะผู้ใช้แรงงานแย่ลง
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีสถิติอัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% แต่ปัจจุบันการว่างงานเพิ่มขึ้น คนตกงานได้รับความลำบากและเจ็บปวดสาหัส เนื่องจากการมีรายจ่ายประจำมาก มีงานทำหรือไม่มีงานทำก็ต้องจ่าย ยังเป็นสิ่งที่น่าห่วงสำหรับสถานการณ์แรงงานไทยในปีนี้
หากมองต่อไปในปี 2568 สถานการณ์แรงงาน หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจไทยก็ยังคงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงมีความเสี่ยงคือ การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลให้ไทยจะได้รับแรงกดดันหลักจากนโยบายทรัมป์ ที่จะทำให้เกิดการกีดกันการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการค้า ส่งออก การผลิต และชะลอการลงทุน
“จึงต้องถามคนที่ดูแลในเรื่องเศรษฐกิจว่ามีการตั้งรับสกัดผลกระทบที่เกิดจากการลงโทษทางการค้าแล้วหรือยัง ส่วนปัญหาที่อาจจะพบได้บ่อยๆ คือ แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานต่างด้าว ที่หลายคนมองว่าเป็นการเข้ามาแย่งงานหรือแย่งสิทธิคนไทย ซึ่งไม่จริง ต่างด้าวเข้ามาเติมเต็มส่วนที่เราขาด ต่างด้าวไม่ได้เข้ามานั่งขอทานอย่างเดียว เขาเข้ามาทำงาน เข้ามาโรงงาน เข้ามาในไซต์งาน ลองคิดดูว่า หากไทยไม่มีคนงานต่างด้าว จะอยู่ได้ไหม สถานประกอบการหลายๆ แห่งที่ปิดตัวลงและมีการปลดพนักงาน ไม่ใช่มีเพียงแค่คนไทยอย่างเดียวที่ได้รับผลกระทบ ยังมีคนงานต่างด้าวแทรกซึมอยู่เป็นส่วนใหญ่”
ขณะเดียวกัน งานที่ต่างด้าวทำ มักจะเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานแบกหาม หาบเร่ กรรมกร งานค่าจ้างต่ำ ส่วนการที่ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย แต่ก็เป็นความจริงที่คนต่างด้าวจะได้รับผลประโยชน์จากส่วนนี้ เนื่องจากคนไทยก็มีเงินเดือนสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวันเป็นส่วนใหญ่ แต่หากไม่มีการปรับขึ้นค่าแรง ก็ไม่ยุติธรรม เพราะต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในไทยก็มีการจับจ่ายใช้สอยในไทย หากของแพงขึ้น พวกเขาก็ต้องจำเป็นที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น หากไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น เขาก็อาจจะไม่มาทำงานเมืองไทย แล้วเราจะเอาแรงงานที่ไหนใช้งาน
ค่าจ้างขั้นต่ำกับศักดิ์ศรีคนทำงาน
ต่อมา เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นปัญหา “ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ” ที่ประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยปรับเพียง 4 จังหวัด 1 อำเภอ คือ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี นั้น มองว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้ง เป็นการชดเชยค่าครองชีพที่หายไป เนื่องจากเครื่องอุปโภคบริโภคสมัยนี้แพงมาก และเงินเดือนก็ได้เท่าเดิม การขึ้นค่าแรงเป็นการชดเชยราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นให้สามารถซื้อได้เท่ากับปีก่อน หากค่าแรงไม่ขึ้นในแต่ละปี แปลว่า “ซื้อของได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา”
“ส่วนตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมจะเท่าไร ไม่สำคัญเท่าตัวเลขนั้นสอดคล้องกับหลักการหรือไม่ ซึ่งหลักการของการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่พอกินสำหรับการทำงานปกติ สามารถรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ คือ 1.ต้องไม่ทำงานเกิน 1 ใน 3 ของวัน วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงแล้วอยู่ได้ ไม่ใช่อยู่ได้แค่กินข้าว 3 มื้อ แต่ต้องอยู่ได้อย่างเป็นผู้เป็นคน สามารถเลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัวได้ มีเงินค้ำจุนชีวิตตนเอง อยู่อย่างเป็นผู้เป็นคนได้ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำที่สมเหตุสมผลต่อความเป็นมนุษย์ 2.ค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำให้ลูกจ้างอยู่ได้โดยไม่เป็นหนี้ วันนี้ที่ไหนไม่มีโอที ก็ไม่มีคนอยากทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าการทำงาน 8 ชั่วโมงแบบไม่มีโอทีนั้นไม่เพียงพอ ค่าจ้างควรจะให้ครอบคลุม 8 ชั่วโมงการทำงานแบบไม่ต้องทำโอทีเสริม มีโอกาสอยู่กับครอบครัว มีเวลาอ่านหนังสือหรือดูข่าวสารเพิ่มเติม ฉะนั้น ให้ใช้หลักการในการพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่การใช้ตัวเลข”
กรณีที่บอกว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้าง หรือไตรภาคีเป็นอิสระ การเมืองไม่สามารถแทรกแซงได้ ขอถามกลับว่า จริงหรือไม่ แน่นอนว่าถูกการเมืองเข้าไปแทรกแซง ที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นค่าจ้างปีละ 1-3 บาทมาตลอด แต่มาถึงรัฐบาลในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ปรับขึ้น 300 บาททั่วประเทศ ตามแนวทางการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จากเดิม 215 บาทต่อวันไปเป็น 300 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 85 บาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ
เหตุผลง่ายๆ คือ รัฐบาลจะเอาแบบนี้ เรียกว่า “คนกลาง” เป็นคนที่ชี้ขาด ฉะนั้นอยู่ที่ว่านโยบายของรัฐบาลจะให้ขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
“ตอนนี้เห็นว่ามี 400 บาท เพียง 4 จังหวัด 1 อำเภอ ถามว่าเห็นตัวเลข 400 บาทแล้วหรือยัง ก็คือเห็นแล้ว แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่ปรับเพิ่มเท่ากันทั่วประเทศ คือ การปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่เท่ากันทั่วประเทศ เฉลี่ยอยู่ที่ 2% (2.0-2.9%) ซึ่งถูกเพิ่มบนฐานค่าจ้างที่ไม่เท่ากันของแต่ละจังหวัด ทำให้ตัวเลขที่ออกมาจึงไม่เท่ากันทั่วประเทศ”
ทุกวันนี้ชีวิตคนทำงานคล้ายกันทั่วประเทศ ซื้อของตามห้างสรรพสินค้าที่ขายราคาเท่ากันทั่วประเทศ ฉะนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรปรับให้เท่ากันทั่วประเทศด้วย
“ที่สำคัญคือ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรจะเป็นเรื่องที่ต่อรองกันได้ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนค่าความเป็นมนุษย์ของคนทำงาน ลูกจ้างต้องกินวันละ 3 มื้อ แต่นายจ้างหาเงินไม่ได้หรือธุรกิจกำลังจะเจ๊ง ต่อรองให้กินข้าวเหลือวันละ 2 มื้อ แบบนี้ก็ไม่ได้ ค่าจ้างขั้นต่ำคือ มาตรฐานในการครองชีพ คือหลักประกันความเป็นมนุษย์ของลูกจ้าง”
โอกาสรอดแรงงานไทยสู้ศึกAI
ในแง่ของการพัฒนาฝีมือแรงงานก็สำคัญไม่แพ้กัน การวางแผนที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นระบบหรือยกระดับเทคโนโลยี เราไม่ได้ทำมากพอ หากบอกว่า จะมีการผลักดันให้ลูกจ้างใช้ AI มากขึ้น แต่ติดปัญหาที่เกิดขึ้นคือ นายจ้างจะรับได้ไหมกับการเสียเวลาให้พนักงานมาเรียนรู้ การจ้างคนทำงาน 4 สัปดาห์ ถ้าจะเอาคนไปพัฒนาและเรียนรู้สัก 1 สัปดาห์ นั่นแปลว่า 1 ใน 4 ของผลงานจะหายไป จะให้รัฐบาลหรือนายจ้างจ่ายค่าเสียเวลาให้ ก็ยังตกลงกันไม่ได้
นี่คือ “ค่าเสียโอกาส” ที่จะใช้กำลังคนเพื่อประโยชน์ต่อนายจ้าง จึงเกิดคำถามว่า ใครจะจ่ายค่าพัฒนาบุคคล เมื่อลงไปถึงภาคปฏิบัติ หากจะพัฒนาแรงงานให้สอดรับกับนโยบายที่จะเน้นทักษะการใช้ AI รวมถึงการจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ซึ่งก็ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านนี้สูง ซึ่งอาจต้องนำเข้าเด็กเมืองนอกที่เก่ง IT เพราะเราขาดแคลน
“สิ่งที่อยากจะฝากไปถึงภาครัฐหรือกระทรวงแรงงาน คือ รัฐบาลบริหารด้วยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะกฎหมายตามโลกไม่ทัน การจ้างงานเป็นเรื่องสำคัญและเปลี่ยนเร็ว วันนี้ มีอาชีพหลากหลายที่กฎหมายยังไม่ครอบคลุม เช่น ไรเดอร์ หรือพนักงานขับรถ ที่เป็นลูกจ้างหรือไม่ก็ไม่รู้ พอไม่ใช่ลูกจ้าง กฎหมายแรงงานก็ไม่คุ้มครอง หากเกิดอุบัติเหตุหรือสูญเสีย ก็อาจจะไม่มีผู้รับผิดชอบ หรือแม้กระทั่งฟรีแลนซ์ ดังนั้น ต้องทำกฎหมายที่จะไปดูแลคนทำงานให้เร็ว ครอบคลุม ระบบราชการต้องปรับตัวให้ทัน ต้องปฏิรูประบบราชการ ปัญหาคือ ความล้าหลังของกฎหมาย ซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่มาจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 เมื่อปี 2515 รวมถึง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ยังไม่ได้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน พวกนี้เป็นสิ่งที่ล้าสมัย โลกนี้เป็นโลกธุรกิจ แต่ดูแลด้วยระบบราชการ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปกันใหม่ ต้องพูดถึงระบบประกันสังคมและรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุม ทุกวันนี้ที่มีสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดรัฐสวัสดิการจริง”
ในฐานะ ส.ว. และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน ที่อยู่ในวงการนี้มากว่า 50 ปี หรืออาจถือว่าเป็นผู้เล่าประวัติศาสตร์ด้านแรงงาน อยากให้มีการผลักดันแก้ปัญหาให้ไว และต้องมองล่วงหน้าให้ไกลกว่าประชาชน
“รัฐไม่ควรตั้งรับกับปัญหา ให้ชาวบ้านเดือดร้อนและมาบอก แต่ต้องมองสถานการณ์ให้ทะลุ และต้องตั้งรับล่วงหน้าไว้ให้ได้ เช่น ต่อไปกระบวนการผลิตจะใช้เทคโนโลยี หรือ AI เข้ามาในกระบวนการมากขึ้น ต้องไปนั่งคิดแล้วว่า ถ้าเป็นลูกจ้าง AI เราจะคุ้มครองเขาอย่างไร สมัยหนึ่งมีการควบคุมเวลาทำงานด้วยการกรอกเวลาเข้างานหรือตอกบัตรเข้างาน แต่ทุกวันนี้ทุกคน Work from home หรือ Work from anywhere ได้ แต่จะมีการควบคุมเวลาทำงานได้อย่างไร จะมีการวัดผลหรือควบคุมการเอาเปรียบคนงานอย่างไร เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปเช่นนี้ ต้องตั้งป้อมไว้สำหรับสิ่งที่จะมาถึงในอนาคต”
ชนชั้นแรงงานตัวชี้วัดความสำเร็จของประเทศ
ทั้งนี้ ชนชั้นแรงงาน คือ คนข้างมากของแผ่นดิน เวลาที่พูดถึงการพัฒนาประเทศ ต้องพูดถึงการพัฒนาคนข้างมากของแผ่นดิน คือ “คนงาน” ถ้าตราบใดชีวิตคนงานไม่ดีขึ้น ไม่สามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี จะไม่สามารถเรียกได้เลยว่า เป็นการพัฒนาประเทศ การที่มีเศรษฐีติดอันดับโลกอยู่ในประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นแกนกลางของแผ่นดิน สิ่งที่เป็นแกนกลางของแผ่นดิน คือ คนที่ใช้แรงงาน ทั้งใช้แรงงานกายและแรงงานปัญญา คนงานเหล่านี้คือ เป้าหมายของการพัฒนาประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่เพียงเรื่องของการค้าขายที่ได้กำไรมากหรือน้อย แต่ต้องมองถึงระดับคุณภาพชีวิตของคนงานส่วนใหญ่ในประเทศ ต้องเอาชีวิตของคนข้างมากเป็นตัวตั้ง สำหรับวัดความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ
อยากเห็นผู้ใช้แรงงาน สามารถมีบทบาททางการเมือง ติดตามและควบคุมการกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาได้อย่างใกล้ชิด สนับสนุนการศึกษาให้ผู้ใช้แรงงานรู้เท่ากันทุกฝ่าย อย่างที่บอกว่า “ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” มาตรฐานความเป็นมนุษย์ต้องเท่ากัน ต้องทำให้คนงานไม่ห่วงว่าเงินเดือนไม่พอ ไม่มีเงินส่งลูกเรียนจนจบ สิ่งที่จะต้องมีคือ สวัสดิการพื้นฐานของคนทำงาน หรือสวัสดิการทางสังคม คนทำงานต้องมีชีวิตที่ไม่ด้อยกว่าคนอื่น เป็นสิ่งที่บ่งชี้การพัฒนาของประเทศ
ศาสตราภิชาน แล ทิ้งท้ายไว้ว่า ต้องมองว่าค่าจ้างควรครอบคลุมชั่วโมงการทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อวัน และทำให้ลูกจ้างอยู่ได้ และฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าควรเอาชีวิตคนงานเป็นตัววัดความสำเร็จของการทำงาน