ไม่หยุดแค่ ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ ผู้ว่าฯ แง้มแพลตฟอร์มใหม่ ‘SoSafe’ อุ่นใจแม้เจอความรุนแรงในบ้าน

ผู้ว่ากทม. ไม่หยุดแค่ ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ ลั่น ‘บ้านอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัย’ จับมือ UNFPA ผุดแพลฟอร์มใหม่ ‘SoSafe’ กลุ่มเปราะบางอุ่นใจเมื่อความรุนแรง

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหารือกับผู้แทนสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม “SoSafe” เครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยแพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อการให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ

นายชัชชาติ กล่าวขอบคุณทีมงานจาก UNFPA ที่ช่วยพัฒนาแพลตฟอร์ม “SoSafe” ต่อยอดจากแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

“เนื่องจากสภาพปัญหาและความซับซ้อนของสังคม และ ‘บ้านอาจจะไม่ใช่ที่ปลอดภัยที่สุด’ จะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคน มีเพื่อนที่ไว้ใจอยู่ใกล้มือ คอยช่วยเหลือ ให้ความปลอดภัย เข้าถึงง่าย ด้วยการใช้เทคโนโลยีในมือถือที่สะดวก และรวดเร็ว” นายชัชชาติกล่าว

ADVERTISMENT

สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์ม “SoSafe” จะเป็นระบบที่ทำงานภายใต้แพลตฟอร์ม “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) จะร่วมกันพัฒนา “SoSafe” เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้รับบริการที่เป็นกลุ่มสตรี กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถเข้าถึงข้อมูลการให้บริการ เข้าถึงสิทธิสุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ การลดความเสี่ยงจากความรุนแรงทางเพศ การเตือนภัย การป้องกันการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ รวมทั้งเชื่อมต่อกับการสนับสนุนทางสังคมอื่นๆ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 72 ของความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นในสถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติด ปัญหาท้องไม่พร้อม

โดยในเดือนมีนาคม 2568 นี้ ผู้พัฒนาจะทำ MOU กับกระทรวงฯที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และอีก 14 จังหวัดนำร่อง เพื่อร่วมมือกันใช้งานจริง ต่อยอด Dashboard เมือง โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1.เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีทุกฝ่ายเพื่อขยายการเข้าถึงและผลกระทบของแพลตฟอร์ม SoSafe 2. บูรณาการแพลตฟอร์ม SoSafe เข้ากับระบบสนับสนุนด้านสุขภาพ สังคม และชุมชนที่มีอยู่ เพื่อปรับปรงการเข้าถึงสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 3.ให้การสนับสนุนทั่วไปและทรัพยากรเพื่อให้มั่นใจว่าแพลตฟอร์ม SoSafe มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน และ 4.ส่งเสริมการจัดวางนโยบายและกรอบการทำงานที่เสริมบทบาทของแพลตฟอร์มในการสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและครอบคลุมมากขึ้น