เปิดมาตรฐานรพ.คู่สัญญาประกันสังคม ไม่จำกัดวงเงิน-หมอต้องตรวจอย่างน้อย 5 นาที

เปิดมาตรฐานรพ.คู่สัญญาประกันสังคม ไม่จำกัดวงเงิน-หมอต้องตรวจอย่างน้อย 5 นาที

จากข่าวที่สะเทือนวงการแพทย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแพทย์หญิงรายหนึ่ง ได้ออกมาเล่าความจริงถึงปัญหาในการทำงานเป็นแพทย์ในโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนแห่งหนึ่ง ที่จะต้องตรวจผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคม แต่กลับเกิดกรณีที่พยาบาลที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ได้ขอให้แพทย์ตรวจผู้ป่วยด้วยเวลาที่สั้นลง และยังขอให้ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เท่าที่จำเป็น เนื่องจากเกินค่าใช้จ่ายต่อครั้งของผู้ป่วย แพทย์รายดังกล่าวถึงกับใช้คำว่า “ต้องตัดรายการตรวจออกต่อหน้าคนไข้” พร้อมแสดงความรู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น

เหตุการณ์นี้ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมของแต่ละ รพ. ว่าใช้มาตรฐานอย่างไรและมีการจำกัดการรักษาพยาบาลจริงหรือไม่ “มติชน” ชวนทุกคนมาหาคำตอบกัน

ประการที่ 1 สิทธิการดูแลสุขภาพของคนไทย

ประเทศไทยมีกองทุนสวัสดิการด้านสุขภาพ 3 กองทุนหลัก ได้แก่ 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.กองทุนประกันสังคม และ 3.กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งคะเนจากชื่อกองทุน ก็จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือ “ที่มาของการเกิดสิทธิ” เริ่มจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่คนไทยเรียกติดปากว่า “บัตรทอง 30 บาท“ สิทธิจะเกิดขึ้นอัตโนมัติเมื่อมีการเกิดในประเทศด้วยสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เรียกได้ว่าเป็นคนไทยโดยแท้จริง โดยมีคนไทยที่เป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง ราว 47.5 ล้านคน โดยผู้มีสิทธิส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก วัยรุ่นที่เริ่มทำงานแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม คนสูงอายุ ไปจนถึงคนที่อาจจะเคยเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมแล้วออกจากระบบมา

ADVERTISMENT

ต่อมาเป็น “กองทุนประกันสังคม” สิทธิจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ในมาตรา 33, 39 และ 40 โดยมีคนไทยรวมถึงคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายอยู่ในกองทุนนี้ ราว 12.4 ล้านคน และ สุดท้าย “กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ” จะเกิดสิทธิก็ต่อเมื่อผู้นั้นเข้ารับราชการ โดยสามารถเบิกจ่ายตรงได้ทุก รพ. ทั้งครอบครัว มีคนไทยอยู่ในกองทุนดังกล่าว ราว 5.3 ล้านคน ฉะนั้น จะเห็นได้ว่ากองทุนสำคัญที่มีสัดส่วนการดูแลสุขภาพและชีวิตของคนไทยมากที่สุด จะมีเพียง 2 กองทุนแรกเท่านั้น

ประการที่ 2 ความแตกต่างระหว่าง “บัตรทอง” และ “ประกันสังคม”

ADVERTISMENT

สำหรับ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ผู้มีสิทธิบัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินสมทบใด ๆ เพราะรัฐบาลดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งจะต่างจาก “กองทุนประกันสังคม” ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ร่วมกับภาครัฐ โดยลูกจ้างจะต้องส่งเงินสมทบซึ่งถูกหักจากเงินเดือน ร้อยละ 5 ตามด้วยเจ้าของกิจการ (นายจ้าง) ต้องจ่ายเงินสมทบ ร้อยละ 5 และรัฐบาลจ่ายสมทบอีกร้อยละ 2.75 และความแตกต่างด้านสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือการรักษาพยาบาล ซึ่งข้อได้เปรียบของกองทุนประกันสังคม จะมีกองทุนเงินทดแทน 7 กรณี ได้แก่ คลอดบุตร-สงเคราะห์บุตร-เจ็บป่วย-พิการ-ว่างงาน-เกษียณ-ตาย เช่น “การดูแลหลังเกษียณ” ผู้ทีมีสิทธิบัตรทองจะไม่มีสิทธิประโยชน์เรื่องการจ่ายเงินบําเหน็จหรือบํานาญ ซึ่งจะต่างจากกองทุนประกันสังคมที่จะมีการคํานวณเงินเกษียณให้ผู้ประกันตน และจะจ่ายให้ทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต

ประการที่ 3 มาตรฐานการให้บริการของ รพ. คู่สัญญาประกันสังคม

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เป็นคนไทยมากกว่า 66 ล้านคน นอกจากนั้นยังมีประชากรแฝงอีกมากกว่า 10 ล้านคน ขณะที่ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาอย่างถูกต้อง มีจำนวนเพียง 78,418 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567) แน่นอนว่าตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมหาศาล โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานจำนวนแพทย์ต่อประชากรไว้ที่ “แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน” แต่จากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ตัวเลขของไทยอยู่ระหว่าง 0.5-0.8 คนต่อประชากร 1,000 คน โดยในภาครัฐน่าจะมีเพียง 0.5 ต่อประชากร 1,000 คน หรือแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกอย่างมาก จึงไม่แปลกที่หลาย ๆ โรงพยาบาลต้องเผชิญกับปัญหาผู้ป่วยล้นมือ โดยเฉพาะ รพ. ขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน ย่อมเป็นที่ต้องการเข้ารับบริการของประชาชน

จากประเด็นร้อนในสังคมที่แพทย์หญิงได้ออกมาเปิดเผยความจริงจากการทำงานที่แสนหดหู่นั้น เมื่อมาดูการกำหนดมาตรฐาน รพ. คู่สัญญาสิทธิประกันสังคมนั้น ได้มีประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องกำหนดมาตรฐานสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน พ.ศ.2562 ซึ่งมีการระบุมาตรฐานการให้บริการของ รพ. คู่สัญญาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดให้สถานพยาบาลนั้น ๆ จะต้องมีบริการทางการแพทย์ 12 สาขาขึ้นไป ดังนี้ อายุรกรรมทั่วไป, ศัลยกรรมทั่วไป, สูตินรีเวชกรรม, ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์, เวชศาสตร์ป้องกัน, จักษุวิทยา, วิสัญญีวิทยา, โสต นาสิก ลาริงซ์, รังสีวิทยา, เวชกรรมฟื้นฟู, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และหรือประสาทศัลยศาสตร์ และ กุมารเวชกรรม

โดยที่น่าสนใจที่สุดตามประกาศดังกล่าวนั้น คือ “มาตรฐานบริการผู้ป่วยนอก” โดยมีการระบุชัดเจนว่า สถานพยาบาลคู่สัญญาประกันสังคมนั้น จะต้องมีการจัดระบบบริการที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระยะเวลาที่ใช้สำหรับการรอคอย และพบแพทย์รวมถึงอื่น ๆ จะต้องไม่นานเกินควร ได้แก่ 1.เวลาที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนและทำบัตรผู้ป่วยไม่เกิน 30 นาที 2.ระยะเวลารอตรวจโรคไม่เกิน 1 ชั่วโมง 3.ระยะเวลารอรับยาและชำระเงินไม่เกิน 30 นาที 4.เวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยพบแพทย์ในการตรวจ ไม่ต่ำกว่าคนละ 5 นาที และ 5.ระยะเวลาที่ใช้ในการรับบริการทั้งหมดไม่เกิน 3 ชั่วโมงในกรณีการตรวจทั่วไป

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อกำหนดใดที่ระบุว่าแพทย์จะต้องทำการตรวจผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคมในเวลาที่จำกัด นอกจากนั้น ในประเด็นของการจำกัดวงเงินที่ใช้ในการตรวจแต่ละครั้งนั้น ข้อเท็จจริงคือ หากเป็นการเข้ารับรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมของตนเอง จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และไม่มีการจำกัดจำนวนครั้ง ส่วนกรณีที่กรณีเข้ารักษาพยาบาลใน “สถานพยาบาลภาคเอกชน” สามารถเบิกจ่ายได้ตามมาตราดังนี้ หากเป็นผู้ป่วยนอก เบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท และสามารถเบิกได้เกิน 1,000 บาทกรณีมีการตรวจรักษาตามรายการ ดังนี้ การให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด, การฉีดสารต่อต้านพิษจากเชื้อบาดทะยัก, การฉีดวัคซีนหรือเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (เฉพาะเข็มแรก), การตรวจอัลตร้าซาวด์กรณีที่มีภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันในช่องท้อง, การตรวจด้วย CT-Scan หรือ MRI ซึ่งจะจ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด, การขูดมดลูกกรณีตกเลือดหลังคลอดหรือตกเลือดจากการแท้งบุตร และกรณีที่มีการสังเกตอาการในห้องสังเกตอาการตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป

หากเป็นผู้ป่วยใน  ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้องไอซียู (ICU) เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท และหากรักษาในห้องไอซียูเบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท นอกจากนั้นยังสามารถเบิกค่าห้องและค่าอาหารโดยรวมถึงกรณีความจำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงตั้งคำถามถึงการได้รับบริการจาก รพ. คู่สัญญาประกันสังคม ที่แม้ว่าจะมีการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ แต่ก็ยังคงพบว่าหลายสถานพยาบาลไม่สามารถดำเนินได้ตามกำหนด นอกจากนั้น ยังมีเรื่องให้แพทย์ต้องหนักใจในการทำงานอย่างที่เป็นข่าวอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการอย่างไรนั้น จะต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image