ส.ก.ถามรัวๆ รถติดใน กทม. ‘ทำอะไรไปแล้วบ้าง?’ ผู้ว่าฯ ลั่น ทำเป็นพันกิโลเมตร ตั้งแต่ฟุตปาธใหม่ ไฟจราจรเรียลไทม์ ยันป้ายรถเมล์ดิจิทัล
เมื่อวันที่ 8 มกราคม เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร และ ส.ก.จาก 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก ในฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ดำเนินการประชุม
ในตอนหนึ่ง นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท เสนอกระทู้ถามสดเรื่อง การแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย กล่าวว่า ฝ่ายบริหารได้หาเสียงกับประชาชนว่าจะมีการแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งเป็น 1 ในนโยบาย วันนี้ตนจึงต้องมาทวงถาม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรให้คนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเขตพญาไท ที่รถติดอย่างมาก ซึ่งอาจจะเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จเสียที มีการกั้นพื้นที่ให้สะดวกแก่ผู้รับเหมาจนเกินสมควร ทำให้ผู้ที่สัญจรใน กทม.ได้รับความยากลำบาก จากการจราจรที่ติดขัด
“1 ในนโยบายของท่านผู้ว่าฯ อันดับต้นๆ เลย เรื่องการเดินทางดี ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความชัดเจนของการดำเนินการตามนโยบาย ไม่ว่าจะงบฯ เกี่ยวกับการจราจร หรือการแก้ไขปัญหาจราจร ไม่ปรากฏให้ประชาชนได้รับทราบเลยว่า ท่านได้ทำอะไรไปบ้าง
กทม.เอง มีสำนักการจราจรและขนส่ง มี 3 สำนักงาน และ 2 กอง ต้องมาแก้ไขปัญหาที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของคนกรุงเทพฯ สำนักงานกลับเล็กนิดเดียวอย่างกับรูหนู แต่แก้ปัญหาใหญ่ที่คนต้องการมากที่สุดในการดำรงวชีวิตใน กทม.” นายพีรพลชี้
นายพีรพลกล่าวต่อว่า ตนขอถามว่า 1.ในระยะ 2 ปี 7 เดือนที่ผ่านมา กทม.ได้ใช้งบฯ แก้ไขปัญหาการจราจรอย่างไรบ้าง
ด้าน นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องขอขอบคุณสำหรับกระทู้นี้ เพราะรถติด ถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่คนกรุงเทพฯ อยากให้แก้ไข
“จริงๆ แล้วถ้าเกิดดูจากนโยบายที่ท่านสมาชิก ส.ก.ขึ้นจอ เราก็ทำตามคำสัญญาไปเกือบทุกวันแล้ว แต่ว่าเรื่องปัญหาจราจรเป็นเรื่องซับซ้อน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฉพาะใน กทม.เองมี 17 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของ กทม. เช่น หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ”
“ผมว่าหัวใจหนึ่งคือการทำเรื่องความร่วมมือร่วมกัน เราเองก็พยายามทำในกรอบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในบางมิติอาจจะเห็นแต่ไม่ได้นึกถึงว่าเกี่ยวข้องกับ กทม. เช่น ‘ทางเท้า’ ซึ่งเราปรับปรุงทั่วทั้ง กทม. ระดับเป็นพันกิโลเมตรแล้ว คือส่งเสริมให้มีการเดินทาง ปรับปรุงเส้นเลือดฝอยต่างๆ รวมถึงเรื่องระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว การเก็บค่าโดยสารต่างๆ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้ ขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น” นายพีรพลระบุ
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลด้านโครงสร้าง กล่าวว่า ในเรื่องการจัดการจราจร กทม.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีความร่วมมือที่สำคัญโดยเฉพาะตำรวจ (ตร.) ซึ่งถ้าเราดูสาเหตุของรถติด แยกเป็น 3 ด้าน คือ 1.วินัยจราจร เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด จอดรับ-ส่ง นักเรียน ส่งของ หรือแท็กซี่สามล้อจอดรอริมถนน เป็นต้น 2.ลักษณะกายภาพถนน 3.การบริหารจัดการจราจร
“การแก้ไขปัญหา คือ การกวดขันวินัยจราจร ซึ่ง กทม.ต้องทำงานร่วมกับ ตำรวจ เพราะอำนาจบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.จราจร รวมถึงมีการใช้อุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น ติดกล้อง CCTV ในการจับรถที่จอดในที่ห้ามจอด
ในส่วนที่ปรัปปรุงด้านกายภาพ มีโครงการผายปากถนน ซึ่งได้ดำนเนิการไปหลายจุดแล้ว รวมถึงปรับปรุงทางแยกต่างๆ ตีเส้นนำทางให้รถอยู่ในช่องเลี้ยวที่ถูกต้อง อีกส่วนคือการใช้เทคโนโลยี โดยเราร่วมมือกับหน่วยงาน Jica ทำเรื่อง Area Traffic Control ควบคุมสัญญาณไฟให้มีความสัมพันธ์กัน รวมถึงที่ได้รับงบฯ มาและกำลังดำเนินการอยู่ คือ ปรับสัญญาณไฟ ให้สอดคล้องกับปริมาณรถในแต่ละทิศทาง
จากนั้น นายวิศณุกล่าวถึง ที่มาของจุดฝืด ซึ่งทาง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาพบว่าใน กทม.มี 127 จุดฝืด แต่ในพื้นที่ความดูแลของหน่วยงาน กทม.มี 99 จุด ซึ่งในปีที่ผ่านมา ดำเนินการไปแล้ว 50 จุด ส่วนที่เหลืออีก 49 จุด รวมกับที่ได้รับการร้องเรียนจากทราฟฟี่ฟองดูว์ และสำนักงานเขต อีก 22 จุด รวมเป็นประมาณ 710 จุด ก็จะทำเพิ่มเติมในปี 2568 นี้
“ถามว่าเราทำอะไรไปบ้าง นี่คือตัวอย่าง เราทำไปแล้ว 50 จุด ซึ่งหลักๆ เช่น แยกสาทร-สุรศักดิ์ ก็มีการปรับรอบสัญญาณไฟ ซึ่งวันนี้ยังเป็นสัญญาณไฟแบบ Fixed-time อยู่ คือเป็นการกำหนดเวลาเป็นวินาที เราก็คำนวณว่าในช่วงเวลาต่างๆ ปริมาณจราจรเป็นอย่างไร ส่วนนี้ก็ทำไว้ล่วงหน้าแล้ว รวมถึงปรับปรุงสัญลักษณ์บนพื้นทาง, ทาสีเส้นนำสายตา โครงการนี้เราทำแล้วก็วัดผลความเร็วเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% รวมถึงคอขวดลดลงเฉลี่ย 44 % กล่าวคือในปี 2567 ความเร็วเฉลี่ยเราได้เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ 3-50 % ในจุดที่เราทำแล้ว” นายวิศณุเผย
นายวิศณุกล่าวต่อว่า ส่วนในปี 2568 มีอีก 70 จุด ถามว่าเราจะทำอะไรบ้าง หลักๆ คือ มีทางแยก 37 จุด, ปรับตำแหน่งป้ายรถประจำทาง, จุดกลับรถคอขวด โดยร่วมมือกับ ตำรวจจราจร ในการลงพื้นที่แต่ละจุดเพื่อแก้ไข ซึ่งอาจต้องใช้หลายมาตรการในการดำเนินการ รวมถึง การกวดขันวินัยจราจรร่วมด้วย
อีกส่วนที่ทำคือ 2.การส่งเสริมใช้รถขนส่งสาธารณะ อาทิ ปรับปรุงทางเท้า ไฟฟ้าส่องสว่าง ตามโครงการเดินได้เดินดี โครงการ Bike Sharing ร่วมกับภาคเอกชน และที่เรากำลังดำเนินงานคือการเพิ่ม ‘ศาลาพักผู้โดยสารรอรถเมล์’ รวมถึง ‘ป้ายรถเมล์ดิจิทัล’ ที่จะทำให้ทราบว่ารถเมล์จะมาถึงในอีกกี่นาที เป็นสิ่งที่เราจะดำเนินการต่อในงบประมาณที่ได้รับมา
อีกส่วนที่แก้ปัญหาเฉพาะจุดคือ ที่ ถนนสามเสน มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำให้สะพานซังฮี้ มีรถหนาแน่น กทม.จึงจัดรถ Shuttle Bus เพื่อช่วยการจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน ทั้งช่วงเช้าและช่วงเลิกเรียน
นายวิศณุกล่าวอีกด้วยว่วา ส่วนหนึ่งที่ได้ดำเนินการร่วมกับ Jica ที่ถนนราชวิถี พระราม 6 ประดิพัทธ์ และพหลโยธิน ทำทางแยก 13 จุด ในช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้ระยะแถวคอย ดีขึ้น 30 % ช่วงที่พีครถติดขัด ก็ดีขึ้น 10 % ซึ่งเราเก็บข้อมูลประเมินว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน นำมาสู่การของบประมาณในปี 2568 โดยจะมีการปรับไฟจราจรจาก Fixed-Time เป็น Adaptive Signaling
“คือปรับเรียลไทม์ตามปริมาณจราจรที่แท้จริง ทั้ง 72 ทางแยก ซึ่งจะทยอยทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกนี้ หรือ มี.ค.2568 อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเสนอ คือการทำ Command Center ในการเอาไว้ดูเหตุการณ์บนถนน จะได้เทคแอกชั่นได้เร็วขึ้น ส่วนที่เหลือจะของบฯ ในปีถัดไป” นายวิศณุกล่าว