‘ปลัดบุญสงค์’ ยันกองทุนประกันสังคม ไม่ล้มละลาย เร่งปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ลงทุนหลักทรัพย์เสี่ยงเพิ่ม 40% ปรับเงินสมทบ สร้างเสถียรภาพ-รายได้เพิ่ม
เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนมีความตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อน แนวคิด MOL TRUST โดยสร้างให้กระทรวงแรงงานเป็นที่ยอมรับกับคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานเป็นทีมในทุกภารกิจของกระทรวงแรงงาน และพัฒนาการทำงานไปเรื่อยๆ พร้อมปฏิรูป ดึงระบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการทำงานเพื่อดูแลสิทธิของผู้ใช้แรงงานในไทย โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องมีการรักษาเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนมีความกังวลใจว่ากองทุนประกันสังคมจะเกิดการล้มละลาย แต่ขอยืนยันว่า กองทุนประกันสังคม ไม่ล้มละลาย แต่จะต้องมีการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินราว 2.6 ล้านล้านบาท โดยเงินก้อนนี้หากนำมาจ่ายสิทธิประโยชน์ทางเดียว แต่ไม่มีเงินรายได้กลับเข้าสู่กองทุนฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้าอาจจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพได้
“แผนยุทธศาสตร์ใหม่จะพิจารณา เรื่อง การลงทุนในกลุ่มเสี่ยงหรือในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงให้มากขึ้น แต่จะต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ที่คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) คณะอนุกรรมการ และนักลงทุนยอมรับได้ โดยจะเพิ่มการลงทุนกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง เป็น 40% โดยจะเพิ่มการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ BBB ส่วนอีก 60% เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคง ซึ่งหากใช้แนวทางนี้จะทำให้กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น” นายบุญสงค์กล่าว
นายบุญสงค์กล่าวต่อว่า ในปี 2567 การลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนกำไรอยู่ที่กว่าร้อยละ 4 หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงจะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม เป้าหมายในปี 2568 จะมีผลตอบแทนกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 หรือราว 70,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2569 จะมีผลตอบแทนกำไรอยู่ที่ร้อยละ 6 หรือราว 70,000 ล้านบาทนายบุญสงค์กล่าวว่า อีกหนึ่งแนวทางคือ การขยายฐานค่าจ้าง เพื่อให้กองทุนประกันสังคมสามารถไปต่อได้ เนื่องจาก 34 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯไม่มีการขยายฐานค่าจ้าง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วค่าจ้างสูงกว่าฐานค่าจ้างที่ได้กำหนดไว้ที่ 15,000 บาท ส่งเงินสมทบอยู่ที่ 750 บาท โดยจะมีการขยายฐานค่าจ้างเป็น 3 ขั้นบันได คือ จากเพดานค่าจ้างสูงสุดเดิม 15,000 บาท เป็น 17,500 บาท ในปี 2569-2571 จากนั้นปรับเป็น 20,000 บาท ในปี 2572-2574 และสูงสุด 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป โดยหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และมีผู้แสดงความคิดเห็นมากกว่า 2 แสนคน โดยร้อยละ 95 เห็นด้วยกับการปรับฐานค่าจ้างดังกล่าว
ปลัดแรงงานกล่าวว่า อีกทั้งยังจะมีการขยายฐานอายุความเป็นผู้ประกันตน จากเดิมที่ 55 ปี อาจจะขยายเพิ่มเป็น 60 ปี เพื่อขยายอายุกองทุนฯให้มากขึ้น ซึ่งมีแนวทางเบื้องต้นว่าจะให้ผู้ประกันตนเลือกได้เอง นอกจากนั้น จะมีการเปิดให้กลุ่มคนหรืออาชีพที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมได้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมมากขึ้น อาทิ แม่บ้าน กลุ่มลูกจ้างจ้างเหมาเกษตรกร กลุ่มประมง กลุ่มต่างด้าว เพื่อทำให้กองทุนประกันสังคมมั่นคงมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการร่างกฎหมายและรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมเพื่อพิจารณา
“จากกรณีที่ประชาชนเกิดข้อสงสัยในเรื่องของการให้บริการในการรักษาที่ไม่เท่าเทียมหรือคุ้มค่า เหมือนสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ขอแจงว่า เงินสมทบ 750 บาท ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในสิทธิใดสิทธิหนึ่งโดยเฉพาะ โดยกระทรวงแรงงานจะเน้นหนักในเรื่องของบำเหน็จบำนาญและชราภาพ เนื่องจากมองว่าคนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และยังไม่มีเงินกองทุนไหนมาเยียวยา มีเพียงประกันสังคมกองทุนเดียวที่สามารถเยียวยาในช่วงบั้นปลายของชีวิตผู้ประกันตนได้ โดยกองทุนฯจะให้ความคุ้มครองตั้งแต่ดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน เช่น มะเร็งรักษาทุกที่ สามารถรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) แห่งใดก็ได้ ที่ทำข้อตกลงร่วมกับทาง สปส. สามารถเข้าไปรับบริการได้ทุกที่ โดยไม่ต้องผ่านการส่งตัวจาก รพ.ตามสิทธิและเราจะตามไปจ่าย เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันมี รพ.เข้าร่วมราว 70-80 แห่ง” นายบุญสงค์กล่าว
นายบุญสงค์กล่าวต่อว่า หลังจากนี้บอร์ดประกันสังคม โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนจำนวนมาก โดยจะมีการประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาต่อไป ส่วนมาตรการ 3 ขอ คือ 1.ขอเลือก ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญได้ ตามข้อกำหนด 2.ขอคืน กรณีเกิดภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนอย่างร้ายแรง สามารถขอรับเงินชราภาพบางส่วนได้ก่อนอายุครบ 55 ปี ตามข้อกำหนด และ 3.ขอกู้ ผู้ประกันตนสามารถนำเงินชราภาพบางส่วน ใช้เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมนั้น กระทรวงแรงงานมีการยืนยันไปแล้วที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป