‘ปลัดแรงงาน’ ไม่การันตีค่าแรง 400 บาททั่วปท. เตรียมเปิดรับฟังความเห็น-มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง
เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายบุญสงค์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีการพิจารณาในวาระต่างๆ คือ 1. เรื่องที่ประธานบอร์ดค่าจ้างแจ้งให้ที่ประชุมทราบ 2. เรื่องรับรองการรายงานการประชุมค่าจ้างครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 3. เรื่องรับทราบผลการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทในบางพื้นที่เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา 4. เรื่องพิจารณาข้อเสนอเพื่อการกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 และ 5. วาระอื่นๆ
“หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทในบางจังหวัดไปแล้วเมื่อต้นปี ทางบอร์ดค่าจ้างจะมาพิจารณาและรับฟังความคิดเห็น โดยใช้การสัมภาษณ์นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบใน 4 จังหวัดและ 1 อำเภอ ที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทไปแล้ว ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศที่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไป โดยจะรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาพิจารณากับบอร์ดค่าจ้างอีกครั้งหนึ่ง“ นายบุญสงค์ กล่าว
นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า กรรมการทุกคนได้มีความเห็นตรงกันว่า จะทำอย่างไรให้ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นสากล โดยเฉพาะการนำมาตรฐานฝีมือแรงงานมาเป็นมาตรฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ซึ่งเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ทั้งนี้จะต้องมีการสำรวจความคิดเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนจะพิจารณาเรื่องนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผลตอบรับจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา นายบุญสงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนให้การยอมรับและเห็นด้วยตามที่ได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทไปแล้ว
เมื่อถามถึงแนวทางหรือมาตรการบรรเทานายจ้าง/สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหลังจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นายบุญสงค์ กล่าวว่า ทางบอร์ดค่าจ้างได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือนายจ้าง โดยจะหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดหย่อนภาษี ลดค่าน้ำ ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน เหล่านี้เป็นต้น
นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่สามารถยืนยันว่าได้จะเห็นตัวเลข 400 บาททั่วประเทศได้ เนื่องจากเป็นดุลยพินิจของบอร์ดค่าจ้างและเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงไตรมาสของประเทศ ซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่า จะเห็นตัวเลข 400 บาททั่วประเทศ ภายในปี 2569 2570 หรือปีต่อๆไปในอนาคต
“จะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างในทุกๆเดือน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศ” นายบุญสงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานในการประชุมบอร์ดค่าจ้างฯ ดังกล่าว พบว่ามีกรรมการที่ไม่เข้าร่วม (ลา) การประชุม จำนวน 3 คน ได้แก่ กรรมการฝ่ายรัฐลา 2 คน คือ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และน.ส.วรวรรณ พลิคามิน ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้างลา 1 คน คือ นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ ทำให้การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 12 คนจากทั้งหมด 15 คน