กรมวิทยาศาสตร์ฯจับมือเอกชนอัพมาตรฐานตรวจ ‘ไมทราไจนีน’ หนุนกระท่อมไทยสู่ตลาดโลก

กรมวิทยาศาสตร์ฯจับมือเอกชนอัพมาตรฐานตรวจ ‘ไมทราไจนีน’ หนุนกระท่อมไทยสู่ตลาดโลก

วันนี้ (28 มกราคม 2568) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลง “ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการยกระดับมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สารไมทราไจนีน (Mitragynine) ในใบกระท่อม” โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมด้วย นพ.พิเชฐ บัญญัติ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ นายพรชัย ปัทมินทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดร.กระท่อม ไบโออ์ จำกัด (Dr.Kratom Bio)

ภญ.ศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด นายสันตกิจ นิลอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร นางวิชาดา จงมีวาสนา ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร นายอัศวชัย ช่วยพรหม ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา และ น.ส.นิตยา เพียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เข้าร่วมที่อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี

ADVERTISMENT

นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศความร่วมมือกับ บริษัท ดร.กระท่อม ไบโออ์ จำกัด ในเครือ บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สารไมทราไจนีนในใบกระท่อม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออก และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายหลักในการสร้างมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารไมทราไจนีนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยใช้ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) กรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล สำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบ เพื่อรับประกันความถูกต้อง แม่นยำ และความน่าเชื่อถือของผลการตรวจวิเคราะห์

ADVERTISMENT

“ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันยกระดับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานใบกระท่อม ไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล มีการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้มั่นใจในความถูกต้องและน่าเชื่อถือของผลการตรวจวิเคราะห์ในทุกขั้นตอน และสร้างระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย มีระบบการรับรองผลการตรวจวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการนำไปใช้ในระดับสากลต่อไป” นพ.ยงยศ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและตรวจวิเคราะห์
ไมทราไจนีนในใบกระท่อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดทำมาตรฐานวัตถุดิบใบพืชกระท่อมของประเทศไทย เผยแพร่ในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย หรือ Thai Herbal Pharmacopoeia ตั้งแต่ปี พ.ศ.2566 รวมทั้งได้ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์ฯ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อจัดทำสารมาตรฐานไมทราไจนีนความบริสุทธิ์สูง (มากกว่าร้อยละ 99) และจัดทำเป็นสารละลายมาตรฐานความเข้มข้น 1.0501 mg/ml เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน มีราคาถูกกว่าสารมาตรฐานจากต่างประเทศ 3 เท่า สามารถลดการนำเข้าได้ไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาทต่อรุ่นการผลิต เริ่มเปิดให้บริการเดือนมกราคม 2568

“นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารไมทราไจนีน ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อม ประกอบด้วย การตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารไมทราไจนีน การตรวจวิเคราะห์ปริมาณความชื้น การตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ การตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนโลหะหนัก ได้แก่ แคดเมียม ตะกั่ว สารหนู และปรอท การตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนยาฆ่าแมลง และการตรวจวิเคราะห์สารพิษจากเชื้อรา ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์กระท่อมของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทั้งภายในประเทศ และการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สามารถสอบถามรายละเอียดหรือส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ได้ที่ศูนย์รวมบริการกรมวิทยาศาสตร์ฯ โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99968 หรือศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ทั่วประเทศ” นพ.ยงยศ กล่าว

นายพรชัย กล่าวว่า บริษัท ดร.กระท่อม ไบโออ์ จำกัด ในเครือ บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด เป็นผู้ประกอบการ ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ ที่ให้บริการครบวงจร โดยมุ่งเน้นในการวิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง และกระท่อมในระดับมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์ฯอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2565 ในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย สามารถสร้างนวัตกรรมสมุนไพรที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายในระดับนานาชาติ (global network) ของบริษัท พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในตลาดโลกอย่างยั่งยืน และได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของกรมวิทยาศาสตร์ฯ ในด้านการพัฒนามาตรฐานการตรวจวิเคราะห์และการศึกษาวิจัยพืชกระท่อมในประเทศไทย

“ดังนั้น ความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์ฯ ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งต่อเกษตรกรผู้ปลูกกระท่อม และผู้ประกอบการที่จะได้รับการรับรองคุณภาพผลผลิต สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดส่งออก มีมาตรฐานอ้างอิงในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างความน่าเชื่อถือแก่คู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ลดอุปสรรคทางการค้า ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกพืชสมุนไพร สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่องตามนโยบาย สธ.ในปี 2568 ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืนให้แก่ภาคเกษตรกรรมและธุรกิจเพื่อสุขภาพของประเทศไทย” นายพรชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image