กรมควบคุมโรคแนะวิธีปฏิบัติตนก่อนเดินทางไปประเทศ ‘ไข้หวัดใหญ่’ ระบาด

กรมควบคุมโรคแนะวิธีปฏิบัติตนก่อนเดินทางไปประเทศ ‘ไข้หวัดใหญ่’ ระบาด

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยว่า ข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. รายงานโรคติดต่อที่คนไทยป่วยมากที่สุด ในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 89,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุดได้แก่ 5-9 ปี สายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบมากที่สุดได้แก่ สายพันธุ์ A ขณะที่สถิติ ปี 2567 ติดเชื้อรวมประมาณ 660,000 คน เสียชีวิต 47 คน จึงถือว่าสถานการณ์การระบาดของประเทศไทยในขณะนี้ไม่น่ากังวล

“แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว ผู้เป็นโรคอ้วน หญิงมีครรภ์ ควรดูแลสุขภาพ ป้องกันตนเองด้วยมาตรการส่วนบุคคล” นพ.ภาณุมาศกล่าว และว่า สำหรับสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันยังเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดเป็นประจำและไม่มีการกลายพันธุ์ มีเพียงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อเล็กน้อย ซึ่งเกิดเป็นปกติในทุกปี โดยประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ และมีการติดตามการระบาดของโรคจากหน่วยงานต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความผิดปกติใดๆ

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อยู่ขณะนี้ อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนเดินทาง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสายพันธุ์ในวัคซีนที่ประเทศไทยที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นของซีกโลกใต้ ไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นของซีกโลกเหนือ แต่การได้รับวัคซีนจากประเทศไทยสามารถช่วยป้องกันโรคได้บางส่วน เนื่องจากสายพันธุ์ในวัคซีนที่ใช้ในปี 2567-2568 ของซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ตรงกัน 3 สายพันธุ์ จาก 4 สายพันธุ์

ADVERTISMENT

“นอกจากนี้ ประชาชนต้องดูแลสุขภาพ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ และควรซื้อประกันสุขภาพเพื่อเข้าถึงระบบโรงพยาบาลในต่างประเทศ การพบแพทย์ในระบบต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การป้องกันตนเอง และซื้อประกันสุขภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ” นพ.ภาณุมาศกล่าว และว่า ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น ในประเทศไทยเน้นการป้องกันกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6.โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์ไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับคนทั่วไปที่แข็งแรงการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นวัคซีนทางเลือกที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน และค่าใช้จ่ายสำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image