เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ในงาน “MIDAS Medical Innovation HACKATHON” จัดโดยหน่วยประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการผลิตนวัตกรรม (MIDAS) มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (องค์กรมหาชน) (HITAP) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) โดยมี ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดงาน โดยมี นางนริศา มัณฑางกูร ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง TCELS, ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิและนักวิจัยอาวุโส HITAP, ผศ.ดร.หวัง ยี่ ผู้อำนวยการร่วม MIDAS และนักวิจัยนวัตกรรมสุขภาพที่ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย โดยงาน MIDAS Medical Innovation HACKATHON จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2568
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัจจุบันมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย มีความหลากหลาย และมีความแปลกใหม่ ซึ่งเป็นความท้าทายของนวัตกรรมดูแลสุขภาพ ที่เป็นเครื่องมือช่วยประชาชนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดย สปสช. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ดูแลสุขภาพคนไทยในด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งต้องคำนึงถึงการลดการใช้งบประมาณของประเทศด้วย หรือถ้าต้องใช้เงิน ก็ควรเป็นการสนับสนุนหน่วยงานในประเทศ ทั้งนี้ ไทยโชคดีที่มีหน่วยงานที่สนับสนุนความคิดด้านนวัตกรรมสุขภาพ อย่าง HITAP และ TCELS ที่ช่วยเฟ้นหาผู้คิดค้นนวัตกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะงาน MIDAS Medical Innovation HACKATHON ครั้งนี้ ที่มีผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ที่เป็นหนึ่งในผู้พัฒนานวัตกรรมสุขภาพให้เกิดขึ้นจริง นอกจากนั้น ยังสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เข้าแข่งขันทุกคน เพื่อการคิดต่อยอดอย่างมีความหมาย การจัดงานใน 2 วันนี้ จะเป็นพลังสำคัญและเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไปด้าน นางนริศา กล่าวว่า TCELS เป็นองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยการให้ทุนสำหรับกองทุนวิจัย ด้วยงบประมาณของรัฐบาลผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) เดิมที TCELS มีบทบาทในการสร้างงานวิจัยพร้อมสนับสนุนทุนการวิจัยด้วย แต่เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นหน่วยให้ทุนอย่างเต็มตัว ตามนโยบายของ TCELS คือ “ABC” ประกอบด้วย Accelerate Innovation คือการเร่งสร้างนวัตกรรมต่างๆ โดยนักวิจัย รวมถึงผู้ประกอบการสามารถเข้ามาหารือกับ TCELS ได้ เพื่อพิจารณาทุนสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมสุขภาพนั้นๆ ต่อมาเป็น Building Eco System คือ การสร้างระบบนิเวศงานวิจัย ซึ่งเป็นขอบเขตที่เราให้การสนับสนุนได้ และสุดท้าย Connect the Dots คือ การเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผลักดันนวัตกรรมไทย สู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มการเข้าถึงของประชาชน
นางนริศา กล่าวว่า ความท้าทายของการนำนวัตกรรมสุขภาพเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย มีความหลากหลายอย่างมาก โดยหลักๆ จะมี 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 การเข้าถึงแหล่งทุน ความท้าทายอยู่ที่การนำเงินทุนเหล่านั้นมาสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้ หากมองในมุมของนักวิจัย หรือผู้ประกอบการนั้น ไทยมีแหล่งทุนเยอะทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทาง TCELS มีความพยายามในการเชื่อมโยงแหล่งทุนต่างๆ เพื่อส่งต่อผลงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จออกมาเป็นนวัตกรรม ประเด็นที่ 2 มาตรฐานการวิจัย โดยไทยมีการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการรับรองและส่งออกไปต่างประเทศได้ ซึ่ง TCELS ก็มีส่วนในการสนับสนุนมาตรฐานต่างๆ ด้วย และประเด็นที่ 3 การสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งทุกคนทราบกันดีว่าการสร้างความเชื่อมั่นในตัวนวัตกรรมไทย เป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งมีหลายวิธีการในการสร้างความเชื่อมั่น โดยแต่ละนวัตกรรมก็จะมีวิธีที่ดีที่สุดต่างกันออกไป เช่น การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยการรับรองจากราชวิทยาลัย สมาคม โรงพยาบาลต่างๆ, การแสดงประสิทธิภาพของนวัตกรรม และ การสร้างความรับรู้ในการสร้างความรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งความท้าทายคือการค้นหากลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อมั่น โดยนักวิจัยนวัตกรรมจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้
“สำหรับเวทีวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ TCELS ได้พบกับนักวิจัย ผู้ประกอบการหลายหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จ เกิดประโยชน์กับประเทศให้มากที่สุด” นางนริศา กล่าวโดย 10 ทีมผู้พัฒนานวัตกรรม ได้แก่
1.3P นวัตกรรม 3P technology for bone regeneration เทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำ เพื่อสร้างกระดูกเฉพาะบุคคล รักษาความเสียหายจากบาดแผลรุนแรง โรคกระดูกพรุน
2.สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นวัตกรรม ดาราแกนครีม ครีมสารสกัดลำไย บรรเทาอาการผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง พัฒนาจากวัสดุเหลือทิ้งของสวนลำไย
3.เกรท เทค แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด นวัตกรรม Arm Booster อุปกรณ์ฟื้นฟูแขนแบบฝึกแขนสองข้างพร้อมกลไกตรวจจับการออกแรง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้ง 3 ระนาบ พร้อมบันทึกและแสดงผลขณะใช้งาน
4.บริษัท บางกอกโบทานิกา จำกัด นวัตกรรม SI-HERB DRESSING แผ่นปิดแผลลิปิโดคอลลอยด์เคลือบสารสกัดจากว่านหางจระเข้และใบบัวบก ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
5.บริษัท สไมล์ ไมเกรน จำกัด นวัตกรรม สไมล์ ไมเกรน แพลตฟอร์ม ระบบบันทึก วิเคราะห์ รักษาและติดตามโรคปวดศีรษะไมเกรน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยประเมินความรุนแรงของอาการและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม6.VI Medical Innovation นวัตกรรม BiTNet แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับช่วยวินิจฉัยความผิดปกติในช่องท้องส่วนบนผ่านภาพถ่ายอัลตราซาวน์ สำหรับคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี
7.OsseoLabs นวัตกรรม อุปกรณ์การแพทย์แบบมีรูพรุนเฉพาะบุคคลที่ขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติ อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกระดูกจริง และการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติทำให้เราสามารถผลิตอุปกรณ์เฉพาะบุคคลได้ ช่วยให้สามารถวางแผนการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ
8.บริษัท ยาเบซ จำกัด นวัตกรรม SorDerm สารสกัดตำรับทดแทนสารสเตรียรอยด์ และยาทาภายนอกหรับใช้รักษาอาการโรคสะเก็ดเงินและโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
9.ICPIM-TISTR นวัตกรรม โปรไบโอติกเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ปรับปรุงความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ พัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติกเพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน
และ 10.บริษัท ไนซีทิ ไนน์ จำกัด นวัตกรรม Happo แพลตฟอร์มเพื่อการดูแลสุขภาพจิต แอพพลิเคชันช่วยให้คุณรู้เท่าทันความเครียดของตนเอง เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี มี AI ที่ใช้ในการวิเคราะห์ระดับความเครียด