รพ.รามา จับมือ เอ็มเทค ร่วมพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ หวังช่วยหมอทำงาน-ลดการนำเข้า

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ศ.นพ.หม่อมหลวงชาครีย์ กิติยากร รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและคู่ความร่วมมือ คณะแพทยศาสตร์ฯ และ รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ MTEC เข้าร่วมในพิธีฯ

ศ.คลิกนิก นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า เทคโนโลยี 3D Printing และวัสดุชีวภาพนับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการอุปกรณ์เฉพาะบุคคล เช่น โครงกระดูกเทียม หรืออุปกรณ์เสริมเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบและผลิตอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ อีกทางช่วยลดต้นทุนและเวลาเมื่อเทียบกับการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ในความร่วมมือกับ MTEC จะเกิดความก้าวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษา แต่ก็พบปัญหาที่เป็นอุปสรรค และต้องการอุปกรณ์ที่มาช่วยสนับสนุนทั้งทางการแพทย์และการเรียนของนักศึกษาแพทย์ ดังนั้น ความร่วมมือนี้จะเป็นการประสานความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้เราพัฒนานวัตกรรมสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึัน

“นวัตกรรมที่ทาง MTEC ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี คิดค้นพัฒนาร่วมกัน หรืออาจเป็นนวัตกรรมที่ทาง MTEC ออกแบบไว้อยู่แล้ว จะถูกนำมาใช้ใน รพ.รามาธิบดี ยกตัวอย่าง ชุดพยุงหลังและเสริมแรงแบบกึ่งอัตโนมัติสำหรับภารกิจทางการแพทย์ ที่มีการนำต้นแบบมาใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.รามาธิบดี เบื้องต้นจะมีการสนับสนุนจำนวน 10 ตัว หรือ อุปกรณ์เจาะกเต้านมเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ อุปกรณ์ยึดข้อกระดูก เพื่อระบุตำแหน่งการเจาะอุปกรณ์ยึดกระดูก ที่เป็นหัตถการต้องทำอย่างแม่นยำในครั้งเดียว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด การมีนวัตกรรมมาช่วยก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางการรักษาได้ดีที่สุด” ศ.คลิกนิก นพ.อาทิตย์ศ.นพ.หม่อมหลวงชาครีย์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความรู้ด้านวัสดุศาสตร์เข้ากับการแพทย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยและช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างความยั่งยืนทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทย

ADVERTISMENT

รศ.ดร.เติมศักดิ์ กล่าวว่า ความเชี่ยวชาญของ MTEC ในด้านวัสดุศาสตร์ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนและตอบโจทย์ทางการแพทย์ ซึ่งมีความท้าทายสำคัญคือ ความแม่นยำ ที่ต้องไม่มีข้อผิดพลาด ดังนั้นวัสดุต่างๆ จะต้องมีมาตรฐานสูงที่สุด ไม่ใช่ผลิตแล้วจะนำไปใช้ได้เลย แต่ยังต้องมีการทบทวนมาตรฐาน และคุณภาพให้สอดคล้องกับการเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความท้าทายของผู้ผลิต คือ การสร้างความยั่งยืนในการผลิต และการนำกลับมาใช้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image