สธ. เผยฝุ่น PM 2.5 กลับมาเพิ่มอีก 42 จว.เกินเกณฑ์ “แพร่” สีแดง 3 วันติด กำชับเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเข้ม

สธ. เผยฝุ่น PM 2.5 กลับมาเพิ่มอีก 42 จว.เกินเกณฑ์ “แพร่” สีแดง 3 วันติด กำชับเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเข้ม ตอบโต้ทันสถานการณ์

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2568) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัด สธ.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) 37.6 – 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษวันนี้ มีจังหวัดที่ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินเกณฑ์มาตรฐาน 42 จังหวัด

ได้แก่ ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 38 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (เกิน 75 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก ลำปาง และสุโขทัย โดย จ.แพร่ มีค่าฝุ่นระดับสีแดงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 และจากการคาดการณ์สถานการณ์ในอีก 7 วันข้างหน้า พบว่าทุกภาคส่วนใหญ่ค่าฝุ่นจะลดลงอยู่ในระดับปานกลางและดี ยกเว้นภาคเหนือที่จะยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีข้อสั่งการถึงหน่วยงานสาธารณสุขในส่วนกลาง 8 ข้อ ดังนี้

1.ติดตามข้อมูลการเข้าใช้บริการห้องปลอดฝุ่นของทุกจังหวัดใน Platform ของกรมอนามัย

ADVERTISMENT

2.ติดตามการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลในการแก้ไขปัญหา เช่น หน้ากากอนามัย มุ้งสู้ฝุ่น เป็นต้น ตามหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของ สปสช.

3.ติดตามข้อมูลการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวตามมาตรการของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม

4.ประสานจังหวัดค่าฝุ่นสีแดงนำเสนอข้อมูลโดยละเอียดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

5.ติดตามข้อมูลและความครอบคลุมของการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่ผู้ป่วยเฝ้าระวัง 4 กลุ่มโรคของจังหวัดพื้นที่สีส้มและสีแดง

6.สื่อสารข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์ภาพรวมอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง

7.นำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยเฝ้าระวัง 4 กลุ่มโรค ที่เข้ารับบริการคลินิกมลพิษและคลินิกมลพิษออนไลน์ โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่สีแดง รวมทั้งการคัดกรองสุขภาพเชิงรุก

8.จัดระบบการรายงานข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์

“นอกจากนี้ ยังมีข้อสั่งการถึงหน่วยงานส่วนภูมิภาคอีก 5 ข้อ คือ 1.ให้จังหวัดส่งผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน โดยจังหวัดที่มีค่าฝุ่นสีแดงให้ส่งข้อมูลจำนวนประชาชน 5 กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ให้กับกลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) 2.ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อติดตามการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล ในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขจากฝุ่น PM 2.5 3.หารือกับคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวตามมาตรการของคณะกรรมการฯ 4.ทบทวนข้อมูลห้องปลอดฝุ่น โดยตรวจสอบข้อมูลจำนวนห้องปลอดฝุ่น การรองรับผู้ใช้บริการ และจำนวนผู้รับบริการให้ถูกต้องครบถ้วน 5.ทบทวนข้อมูลจำนวนการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่ประชาชน โดยเน้น 5 กลุ่มเสี่ยง และเร่งดำเนินการสนับสนุนให้เพียงพอ” นพ.วีรวุฒิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image