พิพัฒน์ ยันจำเป็นทำปฏิทินสื่อสารผู้ประกันตน รับนั่งเฟิร์สคลาส แจงดูงานเอสโตเนียคุ้มค่า
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงกรณีที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการจัดทำปฏิทินวงเงิน 400 ล้านบาท ว่า สปส.มีกลุ่มเป้าหมายการแจกปฏิทิน คือผู้ประกันตน ม.40 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร รวมถึงผู้ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 อีกจำนวนประมาณกว่า 10 ล้านคน เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนรู้จักประกันสังคม ซึ่งปฏิทินได้มีการลงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้ประกันตน ทั้ง 12 เดือน ในแต่ละหน้าว่ามีอะไรบ้าง
นายพิพัฒน์กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องการสื่อสารสิทธิประโยชน์ในรูปแบบปฏิทิน แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและทันสมัย ซึ่งประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลสิทธิประโยชน์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่ยอมรับว่าการสื่อสารผ่านรูปแบบปฏิทิน ช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้ผู้ประกันตนสามารถมองเห็นสิทธิประโยชน์ผ่านปฏิทินที่ทุกบ้านต้องมี
“แต่ยอมรับว่า ยังเป็นวิธีโบราณ แต่ก็ยังมีความจำเป็น ซึ่งเชื่อว่า สปส.ยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำปฏิทิน และยังไม่ปิดกั้น หากมีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่จะเข้ามาเสนอหรือสอบถาม เพื่อที่จะจัดทำปฏิทินในปีต่อไปและยื่นประมูลจัดทำปฏิทินในราคาที่ถูกลง ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวมีคนนำปฏิทินของ สปส.ไปขายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ผมมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบหน่วยงานที่ได้รับแจกปฏิทินไปว่ามีการนำไปจำหน่ายหรือไม่ หากมีพฤติกรรมดังกล่าวจะเอาผิดต่อไป และขอให้ประชาชนที่พบเห็นแจ้งข้อมูลการกระทำผิด และยืนยันว่าปฏิทินที่ทำแจกปีละ 1 ล้านฉบับ ทำเพื่อการแจกเท่านั้น ไม่ได้ให้จำหน่าย” นายพิพัฒน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม กรณียกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) นายพิพัฒน์กล่าวว่า ไม่เคยมีการยกเลิกแน่นอน และพยายามสื่อสารไปแล้วหลายครั้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กำลังจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นร่างฉบับที่ทำตั้งแต่สมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และผ่านการทำประชาพิจารณ์เรียบร้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง จึงมีการระบุให้เพิ่มเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หากเกิดเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ให้บอร์ดประกันสังคมมาจากการสรรหาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ซึ่งตนชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ข้อความดังกล่าว เมื่อผ่าน ครม.ขอให้สภาผู้แทนราษฎร นำไปแก้ในชั้นกรรมาธิการ แต่ขอให้การแก้ไขคำนึงถึงสถานการณ์สุดวิสัยที่จะเกิดขึ้นเหมือนช่วงโควิด-19 ด้วย
“พวกเราไม่เคยคิดจะย้อนกลับไป ในเมื่อเรามีการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 แล้วเราจะย้อนกลับไปอย่างไร แต่การที่ไม่ได้แก้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ชงเข้า ครม. เพราะจะมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์และมีรายละเอียด ซึ่งต้องใช้เวลาเกินกว่า 1 ปี ซึ่งความที่ผมรีบร้อน ผมก็นำฉบับเก่า เผื่อนำเสนอเข้า ครม. ให้ทันกับเหตุการณ์ของผู้ประกันตน” นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ส่วนกรณีการเดินทางราชการไปดูงานในต่างประเทศของ สปส.นั้น สปส. และหน่วยงานทุกกรมภายใต้กระทรวงแรงงานที่เดินทางไปดูงานแต่ละประเทศ พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูล เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เงินส่วนตัว แต่เป็นเงินของผู้ประกันตนทุกมาตรา ตนจึงต้องรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ประกันตน โดยการบินไปดูงานในแต่ละประเทศ จะมีรายละเอียดงานในแต่ละวันกำหนด ต้องประสานไปยังประเทศปลายทาง และต้องกลับมาทำรายงาน โดยต้องแจ้งบอร์ดประกันสังคมรับทราบการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ เช่น การเดินทางไปยังไปประเทศเอสโตเนีย ที่ขึ้นชื่อระบบกองทุนประกันสังคมดีที่สุด จะไปดูการบริหารและจัดการเพื่อนำกลับมาพัฒนากองทุนประกันสังคม ยืดอายุกองทุนฯ ไม่ให้ล่มสลาย
นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มถึงกรณีการเดินทางไปดูที่ต่างประเทศ ที่มีกระแสข่าวการเบิกค่าเดินทางชั้นหนึ่ง หรือ First Class ซึ่งเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ว่า เป็นไปตามระเบียบในมาตรา 53 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2560 กำหนดว่า การเดินทางไปราชการโดยเครื่องบิน “ชั้นหนึ่ง” ว่ามีตำแหน่งใดบ้าง เช่น หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาล, ประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร, รัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง เป็นต้น โดยมีเกณฑ์ระยะเวลาในการเดินทางตั้งแต่ 9 ชั่วโมงขึ้นไป สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง
“ตั้งแต่ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผมเคยใช้สิทธิการนั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสเพียงแค่ 1 ครั้ง นอกนั้น จะนั่งชั้นธุรกิจ หรือ Business Class หลังจากใช้สิทธิครั้งนั้น ผมได้บอกผู้บริหารว่า อะไรที่ประหยัดได้ ควรประหยัดงบประมาณให้กับหน่วยงานและประเทศ สำหรับตัวผมไม่จำเป็นต้องนั่งเฟิร์สต์คลาส การนั่งเฟิร์สต์คลาสกับนั่งชั้นธุรกิจไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ทั้งนี้ เราสามารถใช้สิทธินั้นได้ และบอร์ดฯ เขาก็ได้สิทธิตามระดับของแต่ละคน แต่ทริปไหนที่ไปด้วยกันก็นั่งชั้นธุรกิจหมด” นายพิพัฒน์กล่าว