ชัชชาติ แชร์ความลับ สร้างความเชื่อมั่น ดันเมืองกรุงฯ ขึ้นรอง 1 “ไม่ใช่บินไปนอก แต่ดูแลคนใน”

ชัชชาติ

ชัชชาติ แชร์เคล็ดลับ ฮาวทู ‘สร้างความเชื่อมั่น’ ดันกรุงเทพฯ ยืนรอง 1 เมืองที่ดีที่สุดในโลก – ยันไม่ใช่บินไปต่างประเทศ แต่ดูแลคนในให้ดีที่สุด

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ Ballroom 1 ชั้น 1 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา ‘Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย’ เพราะความเชื่อมั่นคือพลังสู่ ‘ความจริง’ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีบุคคลจากหลายแวดวงทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การเมือง ตลอดจนผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจเดินทางมาลงทะเบียนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เพื่อร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษซึ่งจัดขึ้นตลอดทั้งวัน โดยไฮไลต์ในช่วงเช้าได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาร่วมปาฐกถาพิเศษ เชื่อมั่นประเทศไทย ในเวลา 09.45 – 10.15 น.

ชัชชาติ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เวลา 15.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เชื่อมั่นกรุงเทพฯ เมืองหลวงระดับโลก

ในตอนหนึ่ง นายชัชชาติกล่าวถึง การแก้ปัญหาให้กับประชาชนในช่วงเดือนแรกที่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ก่อนที่จะมีแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น

ADVERTISMENT

“ช่วงแรกช็อกนิดหน่อย ใช้เวลาแก้เฉลี่ย 2 เดือน ปัจจุบันผ่านไป 2 ปี เหลือ 2 วัน มีข้อมูลรู้หมด ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบโจทย์ trust โดยตรง และยุติธรรม เท่าเทียมกันบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และยังเพิ่มประสิทธิภาพ

ผมบอกทีมงานเสมอ ตัวเลข 835,275 ที่เขาด่าและชมมา มันไม่ได้บอกถึงความอ่อนแอ แต่บอกถึงความไว้วางใจที่เขามีกับเรา อย่างนั้นคงไม่เสียเวลากดโทรศัพท์ ถ่ายรูปมาบอก การที่คน 8 แสนคนส่งเรื่องมาให้เรา มันคือเขาเริ่มไว้ใจ เป็นก้าวสำคัญของการทำงานต่างๆ ให้เห็นผลมากขึ้น คือตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีในการสร้าง trusted” นายชัชชาติกล่าว

ADVERTISMENT

ชัชชาติ

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า กทม.มีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งเราปลูกเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนช่วย โดยทุกต้นเรามีคิวอาร์โค้ด ลงแอพพ์หมด ปัจจุบันปลูกไป 1.3 ล้านต้นแล้ว จึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็น 2 ล้านต้น เชิญทูตมาปลูก ให้ต่างประเทศเห็นว่า กทม.เอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับปรุงสวนเดินเล่น ออกกำลังกาย ความเชื่อใจเริ่มเกิดขึ้น

เราเริ่มทำเรื่องการแยกขยะ ในร้านใหญ่ๆ ก่อน อย่าง ห้างสรรพสินค้า ซึ่งขยะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 10,500 ตัน เหลือ 9,200 ตัน/ วัน พวกเราเตรียมตัวไว้เลย ถ้าไม่แยกขยะ เก็บ 60 บาท ถ้าแยกขยะ 20 บาท/ ครัวเรือน

เรื่อง ฝุ่น เรามีแผนลดฝุ่นที่ทำทั้งปี แต่ยังมีปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เรื่องการเผารอบนอก สภาพอากาศ และรถเก่า รวมถึงเรื่องการทำให้รถบรรทุกที่ปล่อยควันพิษในกรุงเทพฯ ในประวัติศาสตร์ครั้งแรกมีความผิด 3,500 คัน ซึ่งก็จะเริ่มแจกใบสั่ง

ชัชชาติ

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เรื่องสุขภาพ ถ้าสุขภาพและการศึกษาไม่ดี ไม่มีทางที่เมืองจะดีได้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน คนจำนวนมากในกรุงเทพฯ ไม่เคยตรวจสุขภาพ ซึ่งเราได้ข้อมูลมหาศาล เราเปิดโรงพยาบาลใหม่ 3 แห่ง และทำโรงพยาบาลให้สำเร็จอีก 3 แห่ง และจะเพิ่มเตียงอีกมหาศาล ปรากฎว่า พระช่วยเยอะมาก ให้พื้นที่ทำโรงพยาบาล พระไว้ใจ เพราะเห็นว่าเราเอาจริงเอาจัง นอกจากนี้ ยังเพิ่ม OPD อีก 23 % ในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มความมั่นใจด้านสุขภาพให้มากขึ้น

จากนั้น นายชัชชาติกล่าวถึงด้าน การศึกษา เช่น เริ่มทำห้องเรียนดิจิทัล พบว่าผลการเรียนดีขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงเพิ่มคอมพิวเตอร์ 20,000 กว่าเครื่องในโรงเรียน ทั่วกทม.

“เรื่อง ความปลอดภัย เรามีการเปลี่ยนไฟ LED จากไฟสีส้มๆ นวลๆ ดูหมดแรง จากทั่วกรุงเทพฯ 4 แสนดวง อย่างน้อยเปลี่ยนครึ่งหนึ่ง ให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น และรู้ได้ว่าไฟดับตรงไหน เพราะเป็นระบบออนไลน์ เปลี่ยนได้ใหม่ได้ง่ายขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

ชัชชาติ

จากนั้น นายชัชชาติกล่าวถึงฟุตปาธว่า ล่าสุดใช้เทคโนโลยีในการจับรถขับบนฟุตปาธ โดยกล้อง CCTV ต.ค.67 จับได้ 40,000 กว่าคดี และ พ.ย.อีก 50,000 กว่าคดี ตอนนี้มีกล้องประมาณ 100 ตัว หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องพฤติกรรม ต้องเอาเทคโนโลยีมาสร้างความมั่นใจ

ส่วนปัญหาอย่าง ‘ทางม้าลาย’ จากกรณีหมอกระต่ายที่ข้ามถนนแล้วรถชนเสียชีวิต ทางม้าลายปรับปรุงแล้วอย่างน้อย 2,000 แห่ง รวมถึงปรับอัตราความเร็ว จาก 80 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. มันทำให้อัตราการตายในกรุงเทพฯ ลดลงจริงถึง 9 เปอร์เซ็นต์

ชัชชาติ

จากนั้น นายชัชชาติกล่าวถึง ‘การมีส่วนร่วม’ โดยชี้ว่า ประชาชนจะไว้ใจเมื่อมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่เราสั่งงาน เคสที่น่าสนใจ อย่างเช่น การทำศูนย์กีฬาเบญจกิติ เราไม่ได้ใช้เงินเอง แต่ชวนเอกชนมาลงทุน ทำคอร์ดแบต สนามเด็กเล่น solar roof เป็นความร่วมมือเอกชน มาทำสิ่งดีๆ กับสังคม มันปรูฟว่าเขาไว้ใจว่าเราเอาจริง ไม่เสียสตางค์สักบาท และมีคนใช้งานลานกีฬาเพิ่มมากขึ้น จาก 8 ล้านเป็น 11 ล้านครั้ง เพิ่มสุขภาพที่ดีให้คนด้วย

อีกสิ่งที่ภูมิใจคือ food bank ทั้ง 50 เขต เหมือนกับที่อเมริกา ให้พ้อยต์คนมาช้อปปิ้งได้อย่างมีศักดิ์ศรี ให้ประเมินคะแนนคนเปราะบางในแต่ละเขต อย่างเขตคลองเตย มีคนใช้บริการ 2,000 คนแล้ว เป็นการแบ่งปัน ดูแลคนที่ยากลำบาก คนที่เหลือ ก็แบ่งให้คนที่ขาด เราส่งต่อมื้ออาหารแล้ว แสนกว่าคน เกือบ 4 ล้านมื้อ ลดคาร์บอนได้ 2,000 กว่าตัน

นายชัชชาติกล่าวว่า เราเปิดเวที การมีส่วนร่วม ให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วม ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’, ‘HACK BKK’ เอาสิ่งที่เขาเสนอมาเป็นโซลูชั่นจริงๆ ให้รู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา จะสร้างความเชื่อมั่นได้

“เด็กรุ่นใหม่มาร่วมกับเรามากเลย ถามว่าอะไรคือความลับ เรามีผู้ว่าที่หนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์ กทม. ท่านรองฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ตอนที่เข้ามาอายุ 33 คนนี้เป็นคนที่เชื่อมกับเด็กรุ่นใหม่ รับฟังเขาอย่างจริงจังไม่ใช่แค่สร้างภาพ เอาสิ่งเขาเสนอมาเป็น solution จริงๆ“ นายชัชชาติกล่าว และว่า

รวมถึง ‘กระจายอำนาจ’ ผ่านงบชุมชน 200,000 บาท ก็ไปซื้อสิ่งที่ชุมชนต้องการ CCTV ไฟส่องสว่าง เป็นต้น

ชัชชาติ

การสื่อสาร สำคัญมาก ยากที่จะไปสร้างแบรนด์ หรือโฆษณา ซึ่งเรามีการจัดนิทรรศการ BMA EXPO เพื่อให้เห็นผลงาน และมอนิเตอร์ สื่อสารความสำเร็จอย่างชัดเจน

รวมถึงมีการพัฒนา ‘ทูตสื่อสาร’ 33 คน เป็นคนที่ช่วยเอาข่าวดีข่าวร้ายไปแจ้ง มีทั้งคนกวาดถนน คนเก็บขยะ เทศกิจ อบรมการสื่อสารให้เขา รวมถึงการสร้างคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ รวมถึงร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพฯ สอนการถ่ายรูปให้สวย จะเห็นว่าตอนนี้ facebook ของเขต อย่างเช่น คลองเตย ถือว่าเป็นตัวตึงอันดับ 1 ที่ทำ content เก่งมาก สื่อสารกับประชาชนให้เข้าถึงง่าย ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ และเพิ่มความไว้วางใจกับประชาชน ซึ่งทุกเขตทำเนื้อหาที่สอดคล้องกับเขตและความต้องการของคนในเขตนั้น

“ตอนผมสมัครเป็นผู้ว่า ไม่เคยคิดนะว่าจะต้องทำงานด้านการต่างประเทศ แต่ผมรู้สึกว่าเหมือนอยู่กระทรวงการต่างประเทศเลย เพราะมันคือการเชื่อมโยงกับโลก มันจะสร้างความเชื่อมั่น สำหรับผมไม่ได้บินไปต่างประเทศ แต่ดูแลคนต่างประเทศที่อยู่ในไทยให้ดีที่สุด ดูแลนักลงทุนอธิบายเขาว่าทำอะไรอยู่ ในประวัติศาสตร์

ผมเจอทูตเยอะมากๆ ไปกระทรวงการต่างประเทศยังบอก ทุกอาทิตย์ต้องคุย หาความร่วมมือแลกเปลี่ยนกัน ผมว่านี่คือการสร้างความไว้ใจระดับโลก” นายชัชชาติกล่าว

ชัชชาติ

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนจะบริหารยังไงให้ทีมไว้ใจเรา และมีผลงานให้ประชาชนไว้ใจเราด้วย ส่วนตัวใช้หลักง่ายๆ ของซิกเว่ เบรกเก้ คือ tight loose tight โดย tight ความต้องการต้องบอกให้ชัดเจน และ loose คือให้เกียรติเขาในการทำงาน แล้วสุดท้ายมาวัดอีกทีว่าได้ผลไหม โดยวัดผลจากประชาชน ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ความไว้ใจจะตามมา

“เรากำหนด เป้าหมายทุก 50 เขตร่วมกันเช่น ต้องมีถนนสวย กี่กิโลเมตร ปรับไฟกี่ดวง จุดฝืดส่วน 15 นาที ปรับปรุงทางเท้า ฯลฯ เท่าไหร่ แต่ละเขตประกอบร่างกัน ในเรื่องใหญ่ อย่างทางเท้า เราทำแล้ว 8,000 กม. เป็นรูปธรรมที่คนเห็นชัดเจน เป็นช่วงกิโลเมตรสุดท้าย ก่อนคนจะเข้าบ้าน” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่อง หาบเร่แผงลอย เราก็พยายาม ปรับไปแล้ว 5,000 กว่าราย

“เราคุย ให้เวลา หาทางออกให้กับเขา อย่างทางเท้าหน้า มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อยู่มา 50 ปี หรือตลาดลาวอยู่มาเกือบ 30 ปี ผอ.เขตคลองเตยก็ช่วยเคลียร์ โดยไม่มีการบู๊”

“เราทำ Hawker center พื้นที่รองรับหาบเร่แผงลอบ แต่ก่อนจะมีอยู่ริมถนนสารสิน 20 ราย ก็จัดให้ไปอยู่ในพื้นที่สวนลุม เป็นระเบียบ ขายดีกว่าเดิมอีก มีที่ให้นั่ง” นายชัชชาติเผย

ชัชชาติ

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วน ‘สถานการณ์น้ำท่วม’ มีจุดเสี่ยง 737 แห่ง โชคดีที่เข้ามาปีแรกฝนตกหนักมาก ก็เลยได้ลิสต์ไล่ทำทุกจุด สถานการณ์ดีขึ้น

“อย่างเมื่อวานนี้ฝนตกหนักมาก 83 มม. ที่เขตราษฏร์บูรณะ จากที่ออกแบบไว้ 60 มม. แต่น้ำไม่ท่วม จะเห็นว่ามีพัฒนาการ บางทีปัญหาแต่จุดเดียว ต้องใช้ถึง 8 โครงการ เช่น หน้าศาลอาญารัชดา เพื่อเอาน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้

“ปีที่ผ่านมาผมว่าเราก็มีสิ่งที่ improve ขึ้นนะ อย่าง Time Out จัดแรงกิ้ง 2025 จากอันดับที่ 24 เราขึ้นลิฟต์พรวดเลย มาอันดับ 2 เมืองดีที่สุดในโลก มันก็คงต้องมีอะไรดีขึ้นบ้างแหละจากที่เขาโหวต แต่เป็นผลงานของทีม ที่สร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน” นายชัชชาติกล่าว

ชัชชาติ

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า อะไรคือคีย์ของ Trust driver ส่วนตัวมี 6 เรื่องคือ

  1. Empathy เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถามว่าทำไมผู้ว่าฯ ต้องลงไปดูน้ำท่วม เพราะต้องเข้าใจความรู้สึกประชาชน ร่วมทุกข์สุขกับเขา ความไว้วางใจจึงจะมา
  2. Walk The talk ต้องทำอย่างที่พูด เราบอกให้คนลดการขับรถ เราก็ต้องใช้รถไฟฟ้า ขี่จักรยาน เดินถนน
  3. Humility ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องยกมือไหว้ไปทั่วขอความรู้ความช่วยเหลืออย่าไปคิดว่าเราเก่งที่สุด
  4. Admit your mistakes เมื่อผิดก็ต้องยอมรับผิด
  5. Fairness and transparency ต้องยุติธรรม โปร่งใส และกระจายอำนาจ
  6. Extend trust to earn trust ถ้าเราไม่ไว้ใจทีมงานเลยไม่มีทางที่เขาจะไว้ใจเรา ถ้าเราไม่ไว้ใจประชาชน ไม่มีทางที่ประชาชนจะไว้ใจ ต้องยื่นความไว้วางใจให้เขา จึงจะได้รับกลับมา

ชัชชาติ

“ผมมีประสบการณ์เล็กๆ มีงานนึงที่ไปเมื่อปีที่แล้ว มีเด็กคนนึงอายุสัก 8-9 ขวบ เข้ามาตามกอดขาผม ‘คุณลุงๆ เป็นไอดอลผม’ น่ารักดีนะ แต่คำพูดนี้ก็มีผล คือมันทำให้เรารู้สึกว่าภาระเรามันใหญ่ ผมมาจากประชาธิปไตย มาจากเลือกตั้ง ถ้าเราสามารถทำให้เด็กมี ไอดอลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ได้ ผมว่ามันจะส่งผลทั้งความเชื่อมั่นในระบบ ผมว่ามันสำคัญกว่าตัวคน”

“ผมเคยพูดกับทางสภากทม. ว่างานของเรา ไม่ใช่แค่บริหารหรือดูแลเมือง แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ระบอบประชาธิปไตยด้วย ว่ายังทำงานได้

ผมว่าความเชื่อมั่นในหลักการ คือเรื่องสำคัญ ตัวตนเรื่องเล็ก ความเชื่อมั่นอยู่ที่ระบบในภาพรวม ตัวเราเดี๋ยวก็ไป แต่สิ่งที่เราทำยังอยู่” นายชัชชาติกล่าว และว่า

ต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบบ เพื่อให้คนศรัทธาและมีความหวังกับเมืองนี้ต่อไป ช่วยกันนะ ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ชัชชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image