ชาวระยอง ส่งเสียงค้าน ‘กาสิโน’ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ตะวันออก เสนอ 5 ข้อถึงรัฐบาล

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ จ.ระยอง เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคตะวันออก กว่า 70 คน ร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวหากมีการก่อตั้งสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดย พระครูสาย ประโชติธรรมาภิรมย์ เจ้าอาวาสวัดวังศิลา กล่าวเทศนาเป็นการเบื้องต้นว่า การสร้างสังคม เศรษฐกิจให้เติบโตด้วยปัญญาจะเป็นจุดแข็งของประเทศ แต่การสร้างเศรษฐกิจบนฐานอบายมุข จะนำประเทศชาติไปสู่ความฉิบหาย

นายโชติ ฟางลอย ศูนย์ประสานงานชุมชน จ.ระยอง กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าสถานบันเทิงครบวงจรเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและหารายได้จากการท่องเที่ยว นำเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ แต่นี่เป็นวิธีการที่ผิด เพราะการจะหารายได้เข้าประเทศนั้นมีหลากหลายวิธีที่ไม่ต้องพึ่งธุรกิจที่เป็นอบายมุข ภาคตะวันออกมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้มากมาย ไม่มีความจำเป็นต้องมีกาสิโน

ด้าน น.ส.อภินันท์ภรณ์ ใต้หล้าสถาพร ตัวแทนหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน การเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ก็เข้าไม่ถึงประชาชนในทุกกลุ่ม และจากการอ่านร่างแล้วตนคิดว่าผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชน ที่น่าเป็นห่วง คือ การบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน จะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มคนที่เห็นช่องว่างของกฏหมายแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว และความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของกฏหมาย อาจจะนำไปสู่งแหล่งรวมอบายมุขขนาดใหญ่กลายเป็นปัญหาทับซ้อนขึ้นไปอีก

ขณะที่เครือข่ายเยาวชน น.ส.พจนา ศุภผล กลุ่มรักษ์เขาชะเมา จ.ระยอง กล่าวว่า หากมีกาสิโนเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออก ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนโดยตรง เพราะนี่เป็นมรดกที่ผู้ใหญ่ทิ้งไว้ไปชั่วลูกชั่วหลาน อยากจะฝากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายนี้อย่างรอบคอบและควรที่จะฟังเสียงพวกเราซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ เรื่องที่เราป็นห่วงและกังวลมาก คือ กลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็กเยาวชน ที่มีทักษะในการประกอบอาชีพน้อยมาก หากมีแหล่งอบายมุขขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ในพื้นที่ เด็กและเยาวชนอาจจะถูกดึงเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ เลือกเดินทางผิดได้ ด้วยวิธีคิดการเข้าสังคมของความอยากได้อยากมีนายศิลป์ชัย แซ่เจีย เครือข่ายภาคประประชาสังคม จ.จันทบุรี กล่าวว่า คนในพื้นที่ภาคตะวันออกมีบทเรียนจากนโยบายขุดบ่อล่อปลาของนักการเมืองมาแล้ว จึงขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อ ต้องเร่งให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ในอดีตที่ฐานทรัพยากรถูกทำลาย นายทุนโกยผลประโยชน์ ในขณะประชาชนได้รับผลกระทบในด้านลบ ฝากถึงพี่น้องชาวระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรีว่า เรามีอีสเทิร์นซีบอร์ดมาแล้วกี่ปี และเขาหลอกเราว่าจะมีการกำจัดขยะอุตสาหกรรมอย่างไร จะมีแนวกันชนคลื่นกี่กิโลเมตร จะมีการปลูกต้นไม้เพื่อลดผลกระทบจากระบบนิเวศ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย วันนี้ที่มาบตาพุดมีการย้ายโรงเรียนออกจากพื้นที่ คนกลุ่มเล็กๆ ได้ผลประโยชน์มหาศาล แต่ประชาชนต้องทนอยู่ หากสังคมบ้านเราจะพัฒนาโดยใช้บ่อนการพนันเป็นเครื่องมือ สังคมคงจะแย่ไปมากกว่านี้ จึงขอเรียกร้องให้มีการทำประชามติ เพราะเรื่องสำคัญต้องให้ประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จะมาริดรอนสิทธิของประชาชนไม่ได้

ADVERTISMENT

น.ส.น้ำผึ้ง ถิ่นสิรคุณ เครือข่ายภาคประชาสังคม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ในช่วงสองสามปีนี้มีการกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่หลายแปลงของกลุ่มนายทุนใหญ่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือไม่ มีการรู้ล่วงหน้าแล้วหรือไม่ ในขณะที่ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล จึงไม่ได้ตั้งตัว กว่าจะรู้อีกทีก็อาจจะสายเกินไปเพราะสูญเสียที่ดินไปให้นายทุนแล้วทั้งหมด

นายสุทธิธรรม เลขวิวัฒน์ ในนามตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมตะวันออก กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์ต่อรัฐบาลและรัฐสภา มีสาระดังนี้ เครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมตะวันออก มีความเห็นพ้องกันว่า ภายใต้ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เป็นการซุกกาสิโน ที่เป็นเป้าหมายหลักของกฎหมายฉบับนี้ และเห็นว่ากาสิโนไม่ใช่ความต้องการของประชาชน แต่เป็นความต้องการของผู้มีอำนาจและกลุ่มทุน โดยประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับการกำหนดนโยบายนี้ ปฏิบัติการของฝ่ายการเมืองต่อเรื่องนี้ มีความรีบร้อนและรวบรัด พยายามผลักดันให้กฎหมายผ่านโดยเร็ว ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ อีกทั้งไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

ADVERTISMENT

เครือข่ายประชาชนและประชาสังคมภาคตะวันออก จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและรัฐสภา ดังต่อไปนี้
1.ขอให้รัฐบาลหยุดการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ซ่อนแอบฉบับนี้ ไม่นำเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา
2.หากรัฐบาลต้องการจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ต้องให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
โดยหน่วยงานที่เป็นกลาง มีความน่าเชื่อถือ และเป็นอิสระ
3.รัฐบาลและรัฐสภาต้องจัดรับฟังความเห็นประชาชนอย่างทั่วถึง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จากล่างขึ้นสู่บน
4.รัฐบาลและรัฐสภาต้องสนับสนุนให้เกิดการกระจายการรับรู้สู่ประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
5.รัฐบาลต้องจัดประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image