ยูเอ็น แนะไทยโฟกัส ‘กลุ่มชายขอบ’ ต่อยอดความได้เปรียบสู่ ‘ผู้นำท่องเที่ยวเชิงการแพทย์’

ยูเอ็น แนะไทยโฟกัส’กลุ่มชายขอบ’ ต่อยอดความได้เปรียบสู่  ‘ผู้นำท่องเที่ยวเชิงการแพทย์’

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. ที่ห้อง Studio R3 ชั้น 4 โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ น.ส.ทลาเลง โมโฟเค็ง (Tlaleng Mofokeng) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพ (UNHRC) แถลงภายหลังการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 18-28 กุมภาพันธ์นี้

โดยในการมาเยือนครั้งนี้ ได้ร่วมสังเกตการณ์แนวปฏิบัติและข้อท้าทายเกี่ยวกับการเข้าถึง การเป็นที่ยอมรับ ความสามารถในการจ่ายค่าบริการ และคุณภาพของบริการสาธารณสุข รวมถึงพบปะกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต สระแก้ว และปราจีนบุรี เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการมีสิทธิด้านสุขภาพกายและจิตใจในไทย โดยเดินทางไปเยือนสถานที่ให้บริการ พร้อมสังเกตการณ์การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและปัจจัยต่างๆ (determinants of health) จากแนวคิดที่คำนึงถึงอำนาจทับซ้อน (intersectional perspective) โดยให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มชายขอบ ทั้งนี้ ผู้รายงานพิเศษ จะนำเสนอรายงานฉบับเต็ม ต่อ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในเดือนมิถุนายนนี้ต่อไป

ADVERTISMENT

ในตอนหนึ่ง น.ส.ทลาเลง โมโฟเค็ง แพทย์ชาวแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้รายงานพิเศษฯ ว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพ (UNHRC) กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลไทยที่เชิญดิฉันมาเยือนประเทศไทยเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิในการมีสุขภาพที่ดี โดยได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงสมาชิกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) องค์การระหว่างประเทศ และตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่มีความหลากหลาย รวมถึงบุคลากรสุขภาพและผู้ให้การดูแล และได้เยี่ยมชมสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน

“เรื่องราวจากประสบการณ์ของพวกเขา ช่วยให้ดิฉันเข้าใจความท้าทายและแนวปฏิบัติที่ดีในไทยมากขึ้น และขอย้ำถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิ (right holders) ที่จะให้ข้อมูลกับดิฉันโดยไม่ถูกตอบโต้  ซึ่งหลังจากเยือนประเทศเป็นเวลา 9 วัน ดิฉันได้รวบรวมข้อมูลและคำบอกเล่ามากมาย มานำเสนอข้อสังเกตเบื้องต้นบางส่วน ซึ่งจะถูกขยายความเพิ่มเติมในรายงานฉบับเต็ม”

ADVERTISMENT

น.ส.ทลาเลงเผยว่า ตนได้ใช้กรอบแนวคิดต่อต้านการล่าอาณานิคม (anti-colonial) และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ (anti-racist) เพื่อวิเคราะห์ความท้าทายทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะชายขอบ (marginalized) ที่ถูกตีตรา (stigmatized) ถูกดำเนินคดีทางอาญา (criminalized) และถูกเลือกปฏิบัติ (discriminated) และมักจะถูกมองข้ามในสังคม โดยประเมินผ่านกรอบบริการด้านสาธารณสุขที่มี ‘เพียงพอ เป็นที่ยอมรับ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพ’ เช่นเดียวกับการเยือนประเทศอื่นๆ

น.ส.ทลาเลงชี้ว่า ในฐานะที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางประเทศแรกๆ ที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องทำให้เป้าหมายการมีบริการด้านสาธารณสุขที่มีเพียงพอ เป็นที่ยอมรับได้ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างแท้จริง โดยครอบคลุมกลุ่มผู้เปราะบาง ให้มากที่สุด ด้วยการยึดหลัก ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นที่ตั้ง เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ภาคสาธารณสุข และนำความได้เปรียบด้านการเป็นผู้นำทางการนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญทางคลินิค

โดย น.ส.ทลาเลง แสดงความประทับใจที่ได้เห็นเครือข่ายอันเข้มแข็ง จากความร่วมมือร่วมใจของอาสาสมัครชุมชน ในระดับฐานราก ที่ช่วยจัดการกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความช่วยเหลือ เข้าถึงประชากรกลุ่มต่างๆ ประทับใจกับความร่วมมือในการประสานงานการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NDCs) และอยู่ภายใต้การดูแลแบบประคับประคองได้อย่างรวดเร็ว ระหว่างที่ได้ไปเยี่ยมศูนย์ให้บริการสาธารณสุขแห่งหนึ่ง

น.ส.ทลาเลงกล่าวว่า ตนได้รับแจ้งว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 การมีเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนที่เข้มแข็งในระดับฐานรากที่ร่วมมือร่วมใจกันช่วยจัดการกับการระบาดของโรคได้ ทำให้ความช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มประชากรต่างๆ

“ดิฉัน ยินดีที่ได้เห็นความพยายามร่วมกันในการคัดกรอง และส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ตามที่ดิฉันได้รับทราบระหว่างการเยี่ยมชมสถานพยาบาลระดับตำบล ใน จ.ปราจีนบุรี ความมุ่งมั่นอันใหญ่หลวงของอาสาสมัครในระบบสาธารณสุข เป็นที่ประจักษ์ชัด และผลการทำงานของศูนย์บริการในด้านโรคไม่ติดต่อ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง การให้บริการทางการแพทย์ในชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุน ผ่านการใช้เทคโนโลยี และการรณรงค์ให้ข้อมูลข่าวสาร ทำให้สถานพยาบาลแห่งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงว่าการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ เป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขทั้งหมด”

น.ส.ทลาเลง กล่าวต่อว่า ในส่วนของ ‘การระงับการให้การช่วยเหลือระหว่างประเทศ’ จากประเทศผู้บริจาคหลักประเทศหนึ่ง ยังสร้างผลเสียอย่างมากในทันทีต่อสุขภาพของผู้ลี้ภัยและผู้อื่นในประเทศไทย โดย ‘การลดจำนวนเงินทุน’ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการให้บริการสาธารณสุขต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และชุมชนที่อาศัยอยู่ตามชายแดน

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ดีอีกประการหนึ่ง ของการให้การดูแลด้านสาธารณสุขข้ามพรมแดน คือ ‘ข้อตกลงระหว่างสถานพยาบาลในการให้บริการผู้ป่วยในประเทศไทย และอีกแห่งในประเทศกัมพูชา’ เพื่อส่งตัวผู้ป่วยและให้การสนับสนุนในกรณีฉุกเฉิน

นอกจากนี้ น.ส.ทลาเลง ยังกล่าวถึงสิทธิด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการดูแลเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อีกทั้งส่งยังกระทบต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของพนักงานบริการทางเพศ และผู้ใช้ยา ในลักษณะเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ยังเห็นแนวปฏิบัติที่ดี มีความคืบหน้าในไทย อาทิ ‘การยุติการตั้งครรภ์’ โดยการปฏิรูปกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ทำให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย

“ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเป็นอิสระในเนื้อตัวร่างกาย การพัฒนาการเพื่อปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติและระบบการให้บริการนั้นเป็นที่เรื่องที่น่ายินดี และสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยทันที” น.ส.ทลาเลงชี้

ในด้าน ‘นวัตกรรมทางการแพทย์’ น.ส.ทลาเลงระบุว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำของธุรกิจการดูแลสุขภาพ และการท่องเที่ยวทางการแพทย์ที่กำลังเติบโต อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานด้านสุขภาพ คือ การพึ่งพาภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนของชุมชนท้องถิ่น ในการปกป้องที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรที่ยั่งยืน

“ผลจากการทำงานของสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดปราจีนบุรี ทำให้การเข้าถึงอาหารและสมุนไพรอินทรีย์สำหรับชุมชน และการจัดหาวัตถุดิบ ส่งสถานพยาบาล กลายเป็นผู้ผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้กับผู้ป่วย การรณรงค์ให้มีที่ดินที่ยั่งยืน และดีต่อสุขภาพ และวิธีการทำเกษตรที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และการทำลายที่ดินจากอุตสาหกรรม ต้องได้รับการสนับสนุน” น.ส.ทลาเลงกล่าว

น.ส.ทลาเลง กล่าวสรุปด้วยว่า การมีบริการสุขด้านสาธารณสุขที่มีเพียงพอ เป็นที่ยอมรับได้ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพได้มาตรฐานนั้น เป็นเป้าหมายของทั่วโลก และเป็นสิ่งที่บรรลุได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง อาทิ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา ผู้พิการ ผู้ที่ถูกจำกัดอิสรภาพ ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ใช้ยา กลุ่ม LGBTIQA+ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ด้วยเหตุนี้ หากประเทศไทยต้องการบรรลุวิสัยทัศน์และขยายภาคการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศไทยด้วยการใช้ความได้เปรียบด้านการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และความเชี่ยวชาญทางคลินิกให้เป็นประโยชน์ การนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้งของค่านิยม มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สิทธิในการมีสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา และเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิเกี่ยวกับกีฬา สิทธิทางวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ”

น.ส.ทลาเลง เรียกร้องให้ประเทศไทย เริ่มวางโครงสร้างเงินทุนภายประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนปัจจัยกำหนดสุขภาพ ระบบสุขภาพ และบริการทางคลินิกสำหรับกลุ่มประชากรชายขอบที่สุด ได้แก่ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น ชุมชนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา คนพิการ ผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ พนักงานบริการทางเพศ ผู้ใช้ยา รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ

โดยเล็งเห็นว่า ภาคประชาสังคมของไทย มีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ จึงขอสนับสนุนให้รัฐบาล ‘กำหนดแนวทางที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม’ โดยจัดให้มีการพูดคุยและปรึกษาหารือ ให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วม

รวมถึง การให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ซึ่งต้องเน้นการขยายผลและทำให้เข้าถึงคนมากขึ้น เพื่อที่ประชากรที่ถูกกีดกันเชิงโครงสร้าง สามารถเข้าร่วมได้ นอกจากนี้ ประชาคมระหว่างประเทศและหน่วยงานสหประชาชาติ ควรช่วยเหลือในการกำหนดโครงการและแบ่งปันข้อมูล เพื่อการเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากลและเพื่อการร่วมมือระหว่างประเทศ

น.ส.ทลาเลงเผยด้วยว่า ระหว่างการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ผู้แทนรัฐบาลไทย ยังเปิดกว้างที่จะรับข้อเสนอแนะและพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งตนจะลงรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานฉบับเต็ม ที่จะถูกนำเสนอใน การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 59 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2569 ณ นครเจนีวา ต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

UNHRC กังวล ‘ระบบคลังสุขภาพไทย’ หวั่นภาระตกผู้ป่วย แนะรัฐเอาจริงภาคธุรกิจละเมิดปล่อยมลพิษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image