กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ หนุน ‘อบจ.’ ยกระดับชีวิตชุมชน

กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ หนุน ‘อบจ.’ ยกระดับชีวิตชุมชน

“คนพิการ” และ “ผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลและฟื้นฟูทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยคณะจึงลงพื้นที่รับฟังความเห็นการขับเคลื่อนงานและการบริหาร “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสกลนคร” การดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดเป็นหนึ่งในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช. ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ โดยร่วมสมทบงบประมาณค่าบริการสาธารณสุข จำนวน 8 บาท ต่อหัวประชากร เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพในจังหวัดอย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ ดีขึ้นและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

เลขาธิการ สปสช. บอกว่า โดยภาพรวมของกองทุนฟื้นฟูฯ ปี 2568 มีกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 71 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 92.1 (76 อบจ.) มีการสนับสนุนโครงการสำหรับศูนย์ยืม-คืน ซ่อม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการจัดสภาพแวดล้อมหรือบริการขั้นพื้นฐานเพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

“กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ สกลนคร ถือว่าเป็นกองทุนที่บริหารจัดการโดย อบจ. ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกองทุนที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เป็นกลไกด้านสุขภาพที่สำคัญ ช่วยดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดีส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้มากเป็นไปตามเป้าหมาย” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า  ในปี 2568 จะขยายขอบเขตการให้บริการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และจะมีแนวทางเพิ่มงบประมาณต่อไปทั้งในพื้นที่และระดับประเทศโดยประเมินตามความจำเป็น ซึ่งจากการได้ลงพื้นที่จ.สกลนคร จะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆได้

พ.จ.อ. ธวัฒชัย ชาญชำนิ รองปลัดอบจ. สกลนคร รักษาราชการแทน ปลัดอบจ. สกลนคร กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หลังลงนามบันทึกข้อตกลง สปสช. จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดแบบความร่วมมือ เมื่อวันที่ 30 พฤษจิกายน 2564 สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง-คนพิการ-ผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่ภายใต้ งบประมาณ อบจ.สกลนครและสปสช. โดยในปี 2568 จัดสรรงบในอัตรา 8 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ สปสช. สนับสนุน 7,930,672 บาท และ อบจ.สกลนคร สมทบเงิน  8 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 15,930,672 บาท

“จากผลการดำเนินงาน  ปี 2567 สามารถจัดบริการและจัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการให้ ครอบคลุมและตอบสนองต่อความจำเป็นของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู สมรรถภาพพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู สมรรถภาพ สนับสนุนช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่กลุ่มเป้าหมายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมเป็นศูนย์กลางที่มีความพร้อมในการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ที่ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพและการ พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับการฟื้นฟู และหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลันและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง”  พ.จ.อ. ธวัฒชัย กล่าว

ขณะที่ พ.อ. จิตกานต์ อรรคธรรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร กล่าวว่า รพ.ค่ายฯให้บริการบุตรกลุ่มพิเศษ ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ และชุดแพทย์เคลื่อนที่ในการลงเยี่ยมบ้านของกำลังพล และประชาชนทั่วไปที่อยู่พื้นที่โดยรอบของรพ.ค่ายฯทุกสิทธิ รวมถึงบัตรทอง โดยใช้หลัก 3ประสาน หน่วยทหารในพื้นที่ สมาคมแม่บ้านทหารบก และรพ.ค่ายฯในการลงไปทำกายภาพให้ที่บ้านในกลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มผู้สูงอายุที่ทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง โดยจากการเยี่ยมสำรวจประชาชนในชุมชนรอบข้าง พบว่าประชาชนมีความต้องการให้เข้าไปดูแล จึงได้เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนรอบๆข้างให้มากขึ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทางรพ. ได้เข้าร่วมของบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ ปี 2567 ราว 6 หมื่นบาท เพื่อมาสร้างกิจกรรมนักกายภาพบำบัด และจัดโปรแกรมที่บ้านในการกายภาพ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากอบจ. มาช่วยบูรณาการร่วมกัน ซึ่งมีผู้ป่วยนอกที่มารับการรักษาเป็นประชาชนทั่วไปร้อยละ 70 และผู้ป่วยไตที่มาฟอกเลือดกับรพ. ร้อยละ 99

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ศิริคุณ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ. สกลนคร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นนวัตกรรมของจ.สกลนครและเผยแพร่ออกไปยังทั่วประเทศคือ การใช้เครือข่ายในการดำเนินการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ โดยเราจะใช้เครือข่ายของรพ. ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้ง 149 แห่ง ที่ให้บริการเชิงรุกกับประชาชนต้องการได้รับการดูแล ไม่ว่าจะเป็นการปรับสภาพบ้าน ศูนย์บริการยืม-คืนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพิ่มการเข้าถึงและเสริมศักยภาพในการให้บริการประชาชนทำให้เกิดความเร็วและสนองความต้องการผู้ป่วยในชุมชน รวมถึงการได้จัดทำโครงการศูนย์ซ่อมและผลิตอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การผลิตวีลแชร์ไฟฟ้า ที่เป็นนวัตกรรมของชาวสกลนครที่สามารถเผยแพร่ได้ทั่วประเทศได้ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้

ทั้งนี้ การดำเนินงานกองทุนสมรรถภาพฟื้นฟูฯ สามารถช่วยเหลือและตอบสนองความต้องการประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงให้บริการและค้นหาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ หรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด บรรลุสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image