ส.ว.แล ชี้ ‘ประกันสังคม’ ต้องปรับให้ทันโลก เป็น ‘องค์กรอิสระ’ มืออาชีพบริหาร ฟังผู้ประกันตน
ภายหลังจากที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก (ไอซ์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่า ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการใช้งบประมาณกองทุนประกันสังคม ที่มีหลายเรื่องไม่เหมาะสม และเรียกร้องให้ สปส.เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ นั้น
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์พิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า ตลอดระยะเวลา 34 ปี นับจากที่ สปส.ได้ก่อตั้งมา ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่างยิ่ง โดยเฉพาะรายรับที่เพิ่มขึ้นจนทำให้กองทุนโตถึง 2.6 ล้านล้านบาท สวัสดิการของผู้ประกันตนก็ควรจะเพิ่มขึ้นตามอย่างมีนัยยะสำคัญ
“แต่การที่ไม่ได้เพิ่มอย่างที่ผู้ประกันตนเรียกร้อง ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินอยู่จริงหรือไม่ หรือมีรายรับเข้ามาแล้วนำไปใช้ในทิศทางที่ฟุ่มเฟือยอย่างที่ผู้คนเขาว่ากันหรือไม่ หากดูงบการใช้จ่ายของ สปส. จะเกิดข้อสังเกตได้ว่า เงินที่เรียกว่า หมวดเบ็ดเตล็ด มีถึงร้อยละ 5-6 ซึ่งสิ่งที่เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดไม่ควรจะใช้จ่ายมากขนาดนี้ ต้องดูว่า สปส.ใช้งบถูกทิศทางมากน้อยแค่ไหน และผู้ประกันตนมีโอกาสตรวจสอบมากน้อยเพียงใด แต่ด้วยความที่ระบบการดำเนินงานของ สปส. ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมานาน เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนแปลง จึงมีการขุดคุ้ยว่าสิ่งไหนไม่ควรที่จะอยู่มานับสิบปี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำให้เกิดการตรวจพบหลายอย่างที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะต้องปรับปรุง” ศาสตราภิชาน แล กล่าว
ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปส.เก็บเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ตามฐานเพดานรายได้คนละไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะทำได้ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำสมัยก่อนน้อยมาก เพียงแค่ 100 กว่าบาท จากเพดานสูงสุดที่ 15,000 บาท แต่เมื่อเวลาผ่านไป เงินเดือนของผู้ใช้แรงงานก็ปรับขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ ฉะนั้น ฐานเพดานค่าจ้างจึงต้องปรับขึ้นบ่อยๆ หากไม่มีการปรับเพดานค่าจ้างเลย จะเอื้อประโยชน์เพียงฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ทั้งๆที่เงินกองทุนประกันสังคมทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อลูกจ้าง
“การที่ สปส. อยู่ในระบบราชการทำให้เกิดความอืดอาด ล่าช้าในการดำเนินงาน คำว่า ราชการ ทำให้รู้สึกถึงการแบ่งชนชั้น บรรยากาศเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงไม่สะดวก ซึ่งจุดนี้ควรจะเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้จึงมีกระแสเสนอให้ สปส.ออกจากระบบราชการและเป็นหน่วยงานอิสระ การที่จะนำ สปส. ออกจากระบบราชการ ก็สามารถทำได้ มีหลายหน่วยงานที่ออกจากระบบราชการแล้วทำงานได้ดีขึ้น หรือให้เอกชนทำ ส่วนใหญ่จะมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยกระบวนการแรก คือ ต้องมีการแก้กฎหมาย และมีกระบวนการสรรหาผู้บริหารมืออาชีพมาดำเนินงาน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการ ดังนั้น ต้องใช้ผู้ที่เป็นมืออาชีพและคัดสรรจากวงกว้าง ไม่ใช่แค่เลือกข้าราชการเพียงฝ่ายอย่างเดียว ต้องนำนักบริหารการเงินมืออาชีพเข้ามา เนื่องจากทุกวันนี้มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวนหลายล้านบาทไปลงทุน แล้วได้ผลตอบแทนกลับมาน้อย เพราะการใช้ราชการตำแหน่งไม่สูงมากดูแลเรื่องการเงินการลงทุน” ศาสตราภิชาน แล กล่าว
ศาสตราภิชาน แล กล่าวถึงข้อเสนอปรับสูตรเงินบำนาญชราภาพ จาก 60 เดือนสุดท้าย มาเป็นค่าเฉลี่ยตลอดอายุการทำงานจริง ว่า จะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ประโยชน์ แต่ขณะเดียวกัน จะมีกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งส่งเงินสมทบเพดาน 15,000 บาท มาเป็นเวลานานเสียประโยชน์
“ทำไมเราไม่ตั้งคำถามกับสูตรนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก แต่เพิ่งมาตั้งคำถามเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อเห็นว่ามันไม่ยุติธรรมชัดๆ ก็ต้องแก้ไข สูตรบำนาญชราภาพ จำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อใช้สูตรนี้ไประยะหนึ่ง ควรจะฟังเสียงผู้คนที่เกี่ยวข้องด้วย หากมีเสียงสะท้อนว่า สิ่งนี้แย่กว่า หรือมันไม่ดีเท่าที่ควร สปส.ก็ต้องมีหน้าที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันไม่มีสูตรอะไรตายตัว โลกเปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยน ชีวิตคนก็ต้องเปลี่ยนตาม จึงคิดว่าการปรับปรุง คือ ชีวิตของการทำงาน สปส. ทำงานกับคนค่อนข้างมาก ทำงานกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ทำจะต้องเปลี่ยนด้วย” ศาสตราภิชาน แล กล่าวและว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่ต้องช่วยดูแลว่าจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร จึงจะทำให้การดำเนินงาน สปส. ดีขึ้นในทุกๆปี
ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า การปรับสูตรหรือปรับสิทธิประโยชน์ใดๆ ให้กับผู้ประกันตน ควรจะต้องยุติธรรม ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมามากขึ้น ควรจะได้ประโยชน์มากขึ้น เมื่อกองทุนประกันสังคมมีรายรับเพิ่มขึ้น ก็ควรจะนำมาพัฒนาให้ชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น
“มีหลายคนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาทั้งชีวิต แต่ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์จากประกันสังคมเลย เนื่องจากเขาอยู่ในบริษัทที่มีสวัสดิการดีกว่าประกันสังคม แต่ก็มีคนอีกกลุ่ม ที่ยังต้องใช้สิทธิประกันสังคม จึงเป็นที่มาว่า กองทุนประกันสังคม เป็นกองทุนที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของผู้ประกันตน” ศาสตราภิชาน แล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการเสนอให้นำการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล
ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า ประกันสังคมครอบคลุมสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต แต่บัตรทอง 30 บาท ดูแลเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาล มองว่าประกันสังคมเป็นเรื่องของความมั่นคงในการมีรายได้ที่จะเลี้ยงชีวิตแม้ไม่ได้ทำงาน เช่น ว่างงาน ขาดรายได้จากการลาคลอดบุตร ก็มีค่าสงเคราะห์บุตรและเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน
“หากจะย้ายผู้ประกันตนไปอยู่กับ สปสช. ก็ไปแค่ส่วนของสิทธิการรักษาดูแลสุขภาพเท่านั้น เพราะผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาทั้งชีวิต ไม่ควรให้สิทธิด้านอื่นๆ หายไป ต้องดูเฉพาะเจาะจงการรักษาพยาบาลของประกันสังคมด้อยกว่าบัตรทองอย่างไร ก็ต้องมีการปรับปรุงตามที่ผู้ประกันตนเรียกร้อง สปส.ต้องไปอธิบายให้ผู้ประกันตนเข้าใจเมื่อเกิดข้อเปรียบเทียบ ต้องชี้แจงว่า บัตรทองเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล แต่ประกันสังคมเป็นการประกันความมั่นคงในการมีชีวิตและการมีรายได้ จึงเป็นเรื่องที่กว้างมากกว่า” ศาสตราภิชาน แล กล่าวและว่า ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ สปส. ต้องนึกอยู่เสมอว่า เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลง หรือคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องควรที่จะเปลี่ยนแปลง หมายถึงคณะกรรมการต่างๆ ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงให้บ่อย ขณะเดียวกัน มุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ จะต้องเปลี่ยนไป กฎเกณฑ์จะต้องเปลี่ยนง่ายเพื่อให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ให้เท่าทันต่อเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง การที่ สปส.ยังอยู่ในระบบราชการที่เป็นเรื่องไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ต้องมาคิดกันในเรื่อง จะทำอย่างไรให้ สปส. เป็นลักษณะเอกชนให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า การดำเนินงานของ สปส. ควรจะทำอย่างโปร่งใส วันนี้มีเงินเท่าไร ใช้จ่ายอย่างไร จะต้องทำให้ผู้ประกันตนรับรู้และตั้งข้อสังเกตได้ เพราะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีหลายสิบล้านคน มีส่วนได้ส่วนเสียกันทั้งนั้น