สคอ.ชง 7 ข้อเสนอ วอนรัฐจัดการบัส 2 ชั้น หวั่น! ช้ายิ่งสูญเสียเพิ่ม

สคอ.ชง 7 ข้อเสนอ วอนรัฐจัดการบัส 2 ชั้น หวั่น! ช้ายิ่งสูญเสียเพิ่ม

วันนี้ (3 มีนาคม 2568) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเกิดอุบัติเหตุล่าสุดรถบัส 2 ชั้น พลิกคว่ำที่เขาศาลปู่โทน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เสียชีวิตรวม 19 ศพ เหตการณ์การณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว สร้างความสูญเสียแต่ละครั้งอย่างมหาศาล ทุกครั้งมักถูกเสนอให้มีการยกเลิกใช้งานรถบัส 2 ชั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ปลอดภัย

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า กว่า 10 ปีมาแล้ว ที่เกิดเหตุและมีการเสนอให้ยกเลิกและถูกเพิกเฉยจากผู้คุม
กฎหมาย เพียงเพราะมองว่าตัวรถผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่หน่วยงานคุมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมดุลการทรงตัวและการตรวจสภาพโดยรวม ซึ่งทั้งหมดล้วนอ้างอิงการใช้งานและมาตรฐานการกำกับดูแลระดับสากล แต่ตามข้อเท็จจริงและการใช้งานในสังคมไทยเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค สภาพภูมิประเทศที่มีขึ้นเขาลงเขา ด้วยตัวรถที่มีความสูงและน้ำหนักตัวค่อนข้างมากจึงยากต่อการควบคุม รวมทั้งทักษะและพฤติกรรมของคนขับที่คุมได้ยากเนื่องจากเป็นรถหมวด 30 ไม่ประจำทาง

ADVERTISMENT

“ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ทฤษฎีใช้ไม่ได้จริง เพราะตัวแปรเรื่องคนขับและระบบสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไม่เอื้ออำนวย และเป็นที่น่าสังเกตุในกลุ่มรถบัส 2 ชั้นว่าเป็นรถเก่า ที่ไม่มีการจดทะบียนเพิ่มใหม่ ก็แปลว่า รถบัส 2 ชั้นเป็นรถเก่าทั้งนั้น ดังนั้น การกำกับดูแลก็จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้น เพิ่มรายละเอียด เพิ่มความถี่เป็นพิเศษ มิเพียงแต่การตรวจสภาพเท่านั้น เพราะตามระบบยังมีช่องโหว่ให้หลบหลีก ยิ่งตัวคนขับแทบจะไม่มีการกำกับดูแลทั้งก่อนขับและขณะขับ เท่ากับการปล่อยปละละเลยให้ใช้งานกันบนความเสี่ยง และเมื่อมีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลก็ทำเพียงเป็นพิธี พอเรื่องราวผ่านไป ผู้คนก็หลงลืมแล้วเหตุก็เกิดขึ้นมากอีกซ้ำไปวน ระบบกำกับดูแลทำได้แต่เพียงภาคทฤษฎี ขาดการคิดและออกแบบรองรับสภาพข้อเท็จจริงด้านการใช้งานอย่างจริงจัง” นายพรหมมินทร์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ควรนำมาชี้แจงอย่างยิ่งคือเรื่องตัวรถและคนขับ สภาพการใช้งาน การกำกับดูแล อย่างละเอียด แต่กลับไม่ปรากฏต่อสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ต้องสร้างเกณฑ์มาตรฐานของหน่วยงานเพื่อความปลอดภัย เช่น การจัดทำสัญญาใช้บริการมีความสำคัญ กำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน มีการประกันภัยฯ และระบบตรวจสอบอย่างโปร่งใสก่อนใช้บริการเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตและบุคคลากรในหน่วยงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจขึ้นได้ ในฐานะคนทำงานด้านความปลอดภัยทางถนน ขอสนับสนุนข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ 1.กำหนดมาตรการและระยะเวลายกเลิกการใช้งานรถโดยสารสองชั้นของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะทั้งระบบ พร้อมกำหนดแนวทางการสนับสนุนเพื่อลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะในการเปลี่ยนผ่านการใช้งานจากรถโดยสารสองชั้นเป็นรถโดยสารชั้นเดียว

ADVERTISMENT

2.ประกาศเส้นทางเสี่ยงห้ามรถโดยสารขนาดใหญ่เดินรถในเส้นทางที่กำหนด โดยไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งเดินรถในเส้นทางที่มีพื้นที่ลาดชันอันตราย และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค 3.มีระบบติดตามเชิงป้องกันแบบเรียลไทม์ (Real Time) ผ่านระบบช่วยระบุตำแหน่ง (Global Positioning System : GPS) ในรถโดยสารสาธารณะ เมื่อพบว่ามีการขับรถเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือขับรถด้วยความเร็วสูง หรือเข้าเส้นทางเสี่ยงอันตรายสามารถแจ้งเตือนหรือสกัดได้ทันที 4.ขยายวงเงินความคุ้มครองประกันภัยอุบัติเหตุภาคสมัครใจ กลุ่มรถโดยสารขนาดใหญ่ เพิ่มเป็นจำนวน 30 ล้านบาทต่อครั้ง โดยไม่รวมค่าซ่อมแซมพาหนะ เพื่อให้ครอบคลุมต่อความเสียหายเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก 5.รื้อหลักเกณฑ์และมาตรการการตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ และให้มีระบบฐานข้อมูล (database) ออนไลน์ที่แสดงข้อมูลประวัติการตรวจสภาพรถโดยสาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดตามและตรวจสอบก่อนการเลือกใช้บริการอย่างสะดวกเข้าถึงได้ทางระบบสารสนเทศของกรมการขนส่งทางบก

6.ทบทวนมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ กำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะ อายุโครงแชสซีและตัวถังรถ การใช้อะไหล่ชิ้นส่วนรถ และการบังคับใช้เกณฑ์คุณสมบัติ ด้านการลุกไหม้การลามไฟของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในรถโดยสารทุกคัน รวมถึงการเพิ่มเครื่องมือตรวจสอบโครงสร้างภายในโดยเฉพาะจากการผุกกร่อนของสนิม ระบบเครื่องยนต์และระบบเบรกหรือระบบห้ามล้อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และ 7.เสนอให้พัฒนากฎหมาย กระบวนการทำงาน รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมและป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image