สปสช.ถกเตรียมพร้อม ‘ระบบรับส่งผู้ป่วยมะเร็ง’ เข้ารักษา ‘รังสีโปรตอน-วางแร่ที่ตา-ผ่าตัดหุ่นยนต์’
วันนี้ (6 มีนาคม 2568) ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดประชุมภายใน สปสช. เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดระบบรังส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้าบริการรักษาด้วย “รังสีโปรตอน” “วางแร่ที่ตา” และ “ผ่าตัดหุ่นยนต์” ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบก่อนหน้านี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
“โดยความคืบหน้าขณะนี้ อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการนำไปประกอบการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์ฯ ก่อนที่เสนอให้เลขาธิการ สปสช.ลงนามเพื่อเดินหน้าต่อไปเบื้องต้นบริการ 3 รายการ เป็นบริการเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงที่โรงพยาบาลมีศักยภาพให้การรักษา ได้แก่ 1.บริการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน ให้บริการโดยโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2.บริการรักษาเนื้องอกในลูกตาด้วยการวางแร่ที่ตา ให้บริการโดย รพ.รามาธิบดี และ 3.บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ตรงและทวารหนัก และเนื้องอกหรือการอักเสบของตับอ่อน ซึ่งโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการประกอบด้วย รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.ราชวิถี รพ.สงขลานครินทร์ รพ.ตำรวจ และ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ โดยเบื้องต้นมี รพ.จุฬาฯ รพ.รามาฯ รพ.ศิริราช และ รพ.ราชวิถี ที่ได้แจ้งร่วมจัดระบบรับส่งผู้ป่วยแล้ว” ทพญ.น้ำเพชร กล่าว
ทพญ.น้ำเพชร กล่าวว่า ในส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการ สปสช.จะจ่ายในรูปแบบโครงการ และให้หน่วยบริการบริหารจัดการรูปแบบการรับส่งผู้ป่วยไปกลับ ตั้งแต่เดินทางจากบ้านจนถึงหน่วยบริการ โดยต้องมีระบบรองรับการประสานงานต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการรับส่งผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในส่วนระบบการบันทึกข้อมูลผู้ป่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ API โดยมีความพร้อมแล้วประมาณร้อยละ 80 และคาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะช่วยให้การบันทึกข้อมูลผู้ป่วยมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์ฯ แล้ว สปสช.จะมีการประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการรับส่งผู้ป่วยเข้ารับบริการทั้ง 3 รายการอีก กับหน่วยงานที่ร่วมจัดบริการ นอกจากเป็นการให้ข้อมูลแล้ว ยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับการดำเนินงานในอนาคตต่อไป
“การดำเนินการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ สปสช. ได้ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีที่สุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นภายใต้การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ทพญ.น้ำเพชร กล่าว
ด้าน นายนนทวัฒน์ บุญบา ผู้อำนวยการมูลนิธิเส้นด้าย กล่าวว่า ในการเตรียมการเพื่อจัดระบบรถรับส่งผู้ป่วยครั้งนี้ มูลนิธิเส้นด้ายโดย “คลินิกเวชกรรมเส้นด้าย” มีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการผู้ป่วยทั่วประเทศที่ต้องการเข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงทั้ง 3 รายการนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการรักษาด้วยรังสีโปรตอนที่ผู้ป่วยต้องมีนัดเข้ารับบริการที่ รพ.จุฬาฯ หลายครั้ง รวมถึงการติดตามผลการรักษา ซึ่งยืนยันว่า คลินิกเวชกรรมเส้นด้ายมีความพร้อมที่จะให้บริการด้วยเครือข่ายในการรับส่งผู้ป่วย และจะดำเนินการตามขั้นตอนในการให้บริการรถรับส่งผู้ป่วย กับ สปสช. อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกและได้รับการดูแลที่ดีที่สุด
“เราจะพยายามทำให้กระบวนการรับส่งมีความสะดวกมากที่สุดและไม่เป็นภาระแก่ผู้ป่วย พร้อมกับความใส่ใจ และการดำเนินการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อทำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้เข้าถึงสิทธิและได้รับบริการตามสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ได้รับ” นายนนทวัฒน์ กล่าว