เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ พร้อมด้วย นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมในการประชุม
โดยก่อนการประชุม นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง รวม 200 คน เดินทางมาให้กำลังใจคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมแสดงจุดยืนและยื่น 5 ข้อเสนอต่อคณะกรรมการฯ โดยมี นพ.ภาณุมาศ เป็นผู้แทน รมว.สาธารณสุข รับข้อเสนอดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีการแสดงละครที่ระบุตัวละครเป็น “นายกรัฐมนตรี” คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ นายทุนน้ำเมา และผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากผลกระทบของแอลกอฮอล์ โดยนายกฯ ได้เดินเหยียบร่างผู้เสียชีวิตเพื่อไปจับมือกับนายทุนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในการที่คณะกรรมการนโยบายฯ เห็นชอบข้อเสนอจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การอนุญาตขายแอลกอฮอล์ในออนไลน์ ให้ขายในวันพระใหญ่ การอนุญาตขายในช่วงเวลา 11.00 – 14.00 น. และการให้ขายในสถานีและขบวนรถไฟต่อมาในเวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวงานรายงาน นายสมศักดิ์ ได้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
โดย นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ตนและเครือข่ายมีความผิดหวังกับมติของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และแนวนโนบายของรัฐ ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เรามองว่าข้อเสนอจากภาคธุรกิจ ได้รับความเห็นชอบง่ายกว่าข้อเสนอจากประชาชน อีกทั้งกระบวนการนำเสนอมติของบอร์ดนโยบายฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามกลไกโดยปกติ ที่เดิมควรจะเริ่มจากคณะกรรมการศึกษาผลกระทบ เสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกระทรวงสาธารณสุข และจึงนำเสนอไปบอร์ดนโยบายฯ แต่ครั้งนี้เป็นการที่บอร์ดนโยบายฯ มีความเห็นลงมาแล้วให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาประชุมภายหลัง ตนจึงมองว่าเป็นการทำให้คณะกรรมการควบคุมฯ ต้องมาประทับตราปลดล็อกให้แทน ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าบอร์ดนโยบายฯ เห็นชอบ ก็สามารถเสนอให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามได้ทันที ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมฯ ตนจึงเห็นใจข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และคนทำงานในคณะกรรมการควบคุมฯ อย่างมาก
นายธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า หากที่สุดแล้วมีการดำเนินการปลดล็อกวัน เวลา สถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมติคณะกรรมการนโยบายฯ ก็จะต้องมีกระบวนการติดตามในนโยบายที่เป็นมติด้วย ซึ่งหลายฝ่ายกำลังหารือในช่องทางที่จะดำเนินการฟ้องร้องคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และรัฐบาล ซึ่งประชาชนจะสามารถฟ้องร้องให้รับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ที่มีการอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ใน 5 พื้นที่นำร่อง ที่มีคนเสียชีวิตมากขึ้น ยังไม่เห็นความรับผิดชอบจากรัฐบาลที่ออกนโยบาย หรือแม้แต่ภาคธุรกิจที่จะให้มาควบคุมเรื่องการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ หรือการส่งกลับบ้านไม่มีการดำเนินการเลย เพราะฉะนั้น ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองสำหรับ 5 ข้อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมฯ มีดังนี้ 1.เครือข่ายผิดหวังกับรัฐบาล และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีจุดยืนสนับสนุนนายทุนน้ำเมามากจนละเลยการปกป้องคุ้มครองชีวิตประชาชน และหากเกิดความเสียหาย สูญเสียเพิ่มขึ้นจากการตัดสินใจทางนโยบายครั้งนี้ ควรตามมาด้วยความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้มีอำนาจตัดสินใจด้วย 2.ขอคัดค้านการอนุญาตให้ขายสุราวันพระใหญ่ ในสถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการในพื้นที่ท่องเที่ยว เพราะนอกจากเป็นการเลือกปฏิบัติแล้วยัง ทำให้ยากในการบังคับใช้กฎหมาย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในการขยายเวลาขายสุราถึง 04.00 น. ในพื้นที่นำร่อง ที่พบว่าการขอความร่วมมือไม่ขายให้คนเมา มีรถรับส่ง มีจุดพักรอ มีการตรวจวัดปริมาณสุรา ฯลฯ นั้น ไม่เป็นจริงเลยในทางปฏิบัติ
3.เครือข่ายยังหวังว่าคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีความรอบคอบเพียงพอที่จะถ่วงดุลปกปกป้อง คุ้มครองชีวิตประชาชนในการประชุมวันนี้ ทั้งนี้เครือข่าย เห็นด้วยให้มีการศึกษา ทบทวนกฎหมาย และสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.ขอเรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาล พิจารณาปกป้องคุ้มครองชีวิตประชาชนและนักท่องเที่ยวจากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการผลักดันปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ.2565 โดยเพิ่มโทษผู้ที่เมาแล้วขับจนเกิดผู้เสียชีวิต พร้อมปรับปรุง พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 นำสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการเข้ามาอยู่ในควบคุม นอกจากนั้น ต้องแยกร้านนั่งดื่มและซื้อกลับให้ชัดเจน พร้อมตั้งกองทุนเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ