ก.แรงงาน-สมาคมประมงฯ ถก 4 ปัญหา ค้านเพิ่มอาชีพประมงเข้าประกันสังคม ปรับค่าจ้างเป็นรายวัน

ก.แรงงาน-สมาคมประมงฯ ถก 4 ปัญหา ค้านเพิ่มอาชีพประมงเข้าประกันสังคม ปรับค่าจ้างเป็นรายวัน

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ คณะกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดย นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมฯ ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงทะเล โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การเข้าพบหารือ ของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย มี 4 ประเด็นสำคัญที่สมาคมฯ หยิบยกขึ้นหารือ และแนวทางของกระทรวงแรงงาน คือ

1. แนวทางแรงงานประมงกับประกันสังคม โดยสมาคมฯ กังวลว่าการบังคับให้แรงงานประมงเข้าประกันสังคมอาจซ้ำซ้อนกับประกันสุขภาพที่แรงงานได้รับอยู่แล้ว และอาจเป็นภาระเพิ่มเติมต่อนายจ้าง

ADVERTISMENT

-แนวทางของกระทรวงแรงงาน: สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างสวัสดิการแรงงานและภาระนายจ้าง

2.การต่ออายุหนังสือรับรองสถานะบุคคล (CI) ที่จะหมดอายุในปี 2569 สมาคมฯ ขอให้ภาครัฐช่วยผลักดันแนวทางรองรับ

ADVERTISMENT

-แนวทางของกระทรวงแรงงาน: กระทรวงแรงงานจะ ประสานกรมการจัดหางาน เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมให้ทันเวลา

3.มาตรการรองรับหากเมียนมายังไม่อนุมัติรายชื่อแรงงานภายใน 6 เดือน สมาคมฯ เป็นห่วงว่าหากมีความล่าช้า อาจส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานในภาคประมง

-แนวทางของกระทรวงแรงงาน: กระทรวงฯ ได้วางแนวทาง รองรับผ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้แรงงานสามารถดำเนินการขอรับเอกสารที่ถูกต้องได้

4. ข้อเสนอให้พิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานประมงจากรายเดือนเป็นรายวัน ทางสมาคมฯ เห็นว่าค่าจ้างรายวันอาจเหมาะสมกับลักษณะงานมากกว่า

-แนวทางของกระทรวงแรงงาน : ปัจจุบัน กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็น รายเดือน ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง แต่กระทรวงฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงให้เหมาะสม

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ขอบคุณ รมว.แรงงาน ที่เข้าใจปัญหาและเปิดโอกาสให้ร่วมกันหาทางออก ร่วมเสนอแนวทาง พร้อมย้ำเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

“แรงงานภาคประมงคือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจทะเลไทย กระทรวงแรงงานพร้อมรับฟังข้อเสนอของทุกฝ่าย และเดินหน้าหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม และนายจ้างสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน” นายพิพัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image