‘สมศักดิ์’ โชว์ผลสำเร็จ 6 โครงการ ใช้ AI ทางการแพทย์ ตรวจเบาหวานขึ้นจอตาแม่นยำ 95%
วันนี้ (9 มีนาคม 2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.มีนโยบายขับเคลื่อนสู่ “ระบบสุขภาพดิจิทัล” ยกระดับคุณภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบื้องต้น โดยหนึ่งในแนวทางดำเนินการคือ การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ ซึ่งล่าสุด ได้รับรายงานจาก นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัด สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข สธ. ว่า มีการนำ AI มาใช้พัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขรวม 26 โครงการ ในจำนวนนี้ พัฒนาสำเร็จแล้ว 6 โครงการ ในปีงบประมาณ 2568 จะพัฒนาเสร็จอีก 11 โครงการ และอยู่ในแผนพัฒนา 9 โครงการ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับ 6 โครงการที่พัฒนาสำเร็จแล้ว ได้แก่ 1.เครื่องมือตรวจจับภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (AI Retina) โดยกรมการแพทย์ ซึ่งพบว่า มีความไวและความจำเพาะในการตรวจวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตามากกว่าร้อยละ 95 ใช้งานในโรงพยาบาลแล้วมากกว่า 130 แห่ง และคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานไปแล้วกว่า 21,000 ราย
2.เครื่องมือคัดกรองฟันผุจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายช่องปาก โดยกรมอนามัย เป็นแอพพลิเคชันชื่อ “รักยิ้ม” สามารถถ่ายภาพช่องปากเพื่อประมวลผล แปลผล และให้คำแนะนำด้านทันตกรรมได้ ตรวจจับฟันผุได้แม่นยำ ร้อยละ 84.5 มีผู้ใช้งานแอพพ์แล้ว 3,500 ราย และเปิดให้หน่วยงานอื่นใช้งานระบบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
3.หมอแผนไทยอัจฉริยะ (Panthai AI Doctor & Chatbot) โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถตรวจวินิจฉัยด้านแผนไทยเบื้องต้น 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคโลหิตระดูสตรี, ท้องอืดท้องเฟ้อ, ไข้หวัด, ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก และผื่นแพ้คัน รวมถึงตอบคำถามสุขภาพและวิเคราะห์ข่าวปลอมด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
4.แพลตฟอร์มข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์และเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (Imaging Hub) โดยสำนักสุขภาพดิจิทัล เป็นระบบฐานข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มากกว่า 5 แสนรายการ และจะขยายฐานข้อมูลภาพเพิ่มอีก 1-3 ล้านภาพ ภายในปีนี้ โดยมี AI วิเคราะห์ภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก และรองรับเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ภาพทางเอกซเรย์อื่นๆ ด้วย
5.เครื่องมือแจ้งเตือนการระบาดและเหตุภัยพิบัติ (DDC.alert) โดยกรมควบคุมโรค แสดงภาพแผนที่การระบาดของโรคและภัยพิบัติ แจ้งเตือนและพยากรณ์การระบาดของโรค เช่น โควิด-19 ช่วยแจ้งเตือนภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขใช้งานแล้ว 1,151 หน่วยงาน แจ้งเตือนเหตุการณ์สำคัญ 3,137 เหตุการณ์
และ 6.เครื่องมือประเมินความเสี่ยงซึมเศร้า (AI Depression + DMIND) โดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมสุขภาพจิต ให้บริการประเมินด้วย AI และต่อยอดกลุ่มเสี่ยงสู่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สามารถประเมินความรุนแรงของผู้รับบริการ ช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงระดับรุนแรงและปานกลางเข้ารับบริการได้เร็ว มีผู้ได้รับการประเมินแล้วมากกว่า 100,000 ราย