ษัษฐรัมย์ ยันชงสูตรเดิมบำนาญ ม.33-ม.39 เข้าบอร์ดประกันสังคม 11 มี.ค.นี้

ษัษฐรัมย์ ยันชงสูตรเดิมบำนาญ ม.33-ม.39 เข้าบอร์ดประกันสังคม 11 มี.ค.นี้

ความคืบหน้าหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ไม่พิจารณาเห็นชอบวาระ เรื่องการปรับสูตรบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่เสนอโดยกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน โดยที่ประชุมให้นำกลับไปศึกษาและเสนอในที่ประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 11 มีนาคมนี้นั้น

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคม เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า สูตรการคำนวณบำนาญชราภาพที่จะเสนอในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 11 มีนาคมนี้ ยังคงมีรายละเอียดเหมือนเดิมตามที่ได้เสนอไปคราวที่แล้ว คือ ปรับสูตรการคำนวณใหม่ จากเดิมเป็นการคำนวณจากเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย เปลี่ยนเป็นใช้คำนวณเงินเดือนตลอดอายุทำงานจริง ที่คำนวณตามค่าเงินและค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งมั่นใจว่าไม่กระทบต่อสถานะกองทุนและนายจ้าง ทั้งนี้ ในรายละเอียดของสูตรยังคงยืนยันใช้แบบเดิม แต่สิ่งที่จะต้องปรับ คือ วิธีการนำเสนอต่อที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมวันที่ 11 มีนาคมนี้ คาดว่าจะติดอุปสรรคหรือผ่านไปได้ด้วยดี นายษัษฐรัมย์กล่าวว่า ก็ยังคงมีสิ่งที่เป็น Synonym หรือคำพ้องความหมายของคำว่า “ไม่ผ่าน” อยู่

ADVERTISMENT

“คือ 1.ขอให้เข้าอนุกรรมการอีกครั้งแล้วนำเข้าบอร์ดฯ แปลว่า จะกลับเข้าบอร์ดฯอีกครั้งอย่างเร็ว คือ เดือนพฤษภาคม และกระบวนการต่างๆ จะทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันในปีปฏิทินนี้ 2.ถ้าอย่างนั้น ก็เสนอสูตรแค่ ม.39 อย่างเดียวสิ ซึ่งการเสนอสูตรใหม่ ใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน เข้าอนุกรรมการ เข้าบอร์ดฯใหม่ อย่างเร็ว คือ เดือนตุลาคม 2568 และ 3.มันมีคนเสียประโยชน์ น้อยลงอยู่แม้ไม่เยอะมาก แต่ก็สำคัญ-ให้ผ่านไม่ได้ ความจริงคือ ไม่มีสูตรหรือนโยบายสาธารณะใดที่คนจะได้ประโยชน์ 100% การกล่าวเช่นนี้คือ การปัดตกไปโดยปริยาย ทั้ง 3 ข้อนี้จะมีความหมายของคำว่าไม่ผ่านอยู่ เพราะฉะนั้น เราก็อาจจะต้องระวังในประเด็นนี้ แต่เราจะพยายามผลักดันต่อไป ขณะนี้ผมคิดว่าอาจจะมีฝั่งตรงข้ามเราที่เสียประโยชน์จากการที่เราเปิดประเด็นการตรวจสอบภายในต่างๆ และพยายามที่จะไปปั่นประเด็นว่า ข้อเสนอสูตรบำนาญชราภาพซึ่งเป็นข้อเสนอใหญ่ของทีมประกันสังคมก้าวหน้า จะทำให้มีผลกระทบต่อคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News) เนื่องจากสูตรบำนาญที่เสนอไปนั้น มีกระบวนการเยียวยาและการคิดสูตรค่าเงินในปัจจุบันเทียบกับรายได้ในอดีต” นายษัษฐรัมย์กล่าว

นายษัษฐรัมย์กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด ก็สามารถมาร่วมติดตามการประชุมบอร์ดฯในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ.นนทบุรี ซึ่งจะมีการประชุมในเวลา 09.00-12.00 น. และเมื่อประชุมเสร็จสิ้นการประชุมจะมีการแถลงผลการประชุมต่อไป

ADVERTISMENT

ด้าน นายสหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชลบุรี พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า การประชุมบอร์ดฯครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้บอกให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ ซึ่งสูตรบำนาญชราภาพที่เสนอไปนี้ ก็ไม่ได้เป็นสูตรใหม่ มีการหารือกันในชั้นอนุกรรมการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ก่อนที่จะเข้าบอร์ดประกันสังคม ซึ่งสูตรนี้มีการวิจัยจากกองวิจัยของ สปส. รวมถึงมีการคำนวณตัวเลขรองรับ โดยสรุปคือ สูตรบำนาญใหม่นี้ได้ผ่านกระบวนการคิด ผ่านการทำวิจัยมาเรียบร้อยแล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่

“ตอนแรกเรามั่นใจว่าสูตรคำนวณบำนาญนี้จะผ่าน เพราะเราไม่เห็นเหตุผลของการค้านและการที่จะไม่พิจารณาให้สูตรนี้ผ่าน แต่เราเพิ่งได้รับสัญญาณหลายอย่างว่า สูตรการคำนวณบำนาญชราภาพผู้ประกันตนแบบใหม่ที่จะพิจารณาในวันที่ 11 มีนาคมนี้ อาจจะถูกเลื่อน ปรับให้เข้าไปวนในขั้นอนุกรรมการอีกรอบหนึ่ง (ในทางเทคนิคคือ การปัดตกโดยกระบวนการ) ซึ่งจะต้องเสียเวลาอีก 5-6 เดือน ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่มีคนบางกลุ่มไม่พอใจที่พวกเราออกมาเปิดโปงหลายๆ เรื่องของ สปส.” นายสหัสวัตกล่าว และว่า แต่ด้วยสูตรนี้ ผ่านการวิจัยมาแล้ว จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะปัดตกสู่ชั้นอนุกรรมการอีกรอบ อยากให้พิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ไม่มีใครเสียประโยชน์จากเรื่องนี้

เมื่อถามว่า หากมีการปัดตกการคำนวณสูตรบำนาญนี้อีกรอบจะทำอย่างไร นายสหัสวัตกล่าวว่า เรื่องนี้อยากให้ผู้ประกันตนเป็นคนตัดสิน ไม่ใช่พวกเราหรือบอร์ดฯ และควรจะตอบคำถามผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ว่า เหตุอะไรถึงจะให้กลับไปพิจารณาใหม่ในชั้นอนุกรรมการ ซึ่งตนอยากเชิญชวนผู้ประกันตนทุกคนไปจับตามองการพิจารณาของบอร์ดฯในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ที่ สปส.

เมื่อถามถึงกรณีการควบรวมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ ประกันสังคม, บัตรทอง และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่จะมีการประชุมในวันที่ 12 มีนาคมนี้ นายสหัสวัตกล่าวว่า ในเชิงรายละเอียดและเป้าหมายของแต่ละกองทุนมีความต่างกัน รวมถึงการบริหารแต่ละกองทุนก็แตกต่างกันค่อนข้างมากที่ผ่านมาไม่ได้มีการเอารายละเอียดมากางดูว่า การบริหารแต่ละกองทุนเป็นอย่างไร หรือนำมารวมกันในมิติใดได้บ้าง

“หากจะมีการพูดคุยกันอาจจะต้องเริ่มจากตรงนี้ แต่ขณะนี้ ด้วยข้อมูลที่เรามี ยังฟันธงไม่ได้ว่าการควบรวมทั้ง 3 กองทุนฯ มันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 100% หรือไม่ คิดว่าควรจะต้องเอารายละเอียดของแต่ละกองทุนมากางก่อน และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรวมหรือไม่ รวมกองทุนแล้วดีหรือไม่ หรืออาจมีการตั้งบอร์ดกลางขึ้นมา ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ เข้าใจว่า สังคมตอนนี้อาจจะอยากให้มีการควบรวมกองทุน แต่ต้องดูรายละเอียดด้วยว่า สุดท้ายแล้วอะไรจะเป็นประโยชน์มากกว่ากัน” นายสหัสวัตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image