‘สมศักดิ์’ ตอบกระทู้ ส.ว. ย้ำนโยบายรัฐบาลสอดรับแนวคิด ‘แพทย์ชนบท’ หวังลดเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบกระทู้ที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งถามกรณีแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดและการดำเนินงานของขบวนการแพทย์ชนบท ว่า แนวความคิดของแพทย์ชนบทที่ลดความเหลื่อมล้ำสนับสนันเครือข่ายสุขภาพและสร้างระบบปฐมภูมิให้แข็งแรง ผลิตแพทย์เพิ่ม มุมมองแพทย์ชนบทเรื่องโรคที่ชาวบ้านป่วยร้อยละ 80 เป็นโรคที่ป้องกันได้รักษาได้ แต่การเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ยังจำกัดอย่างยิ่ง และมีความพยายามผลักดันให้มีโรงพยาบาลในทุกอำเภอ สร้างระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าหรือบัตรทอง เพื่อทลายกำแพงการเงินในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งแนวคิดของรัฐบาลสอดคล้องกับแพทย์ชนบท ใน 3 ช่วง โดยช่วงแรก นายทักษิณ ชินวัตร ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วง 2 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และช่วง 3 น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ขับเคลื่อนเทเลเมดิซีน ให้บริการสถานีบริการแพทย์ทางไกล
“ในแนวทางต่างๆ ล้วนแต่สอดคล้องกับแพทย์ชนบท ซึ่งแพทย์ชนบทเป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นราชการ เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาจากแพทย์และผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นสมาชิก ร่วมกันดำเนินการและผลักดันในแนวนโยบายต่างๆเป็นกระจกสะท้อนให้หน่วยงานราชการได้เห็น และนำไปปฏิบัติ ซึ่งแนวทางร่วมกันต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการ และเป็นแนวทางที่ต้องการให้แพทย์ได้รับความยุติธรรมในการดำเนินการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตั้งแต่ 40 ปีที่ผ่านมา กับวันนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมายในเรื่องการรักษาพยาบาล การเข้าสู่ระบบเทเลเมดิซีน เทเลเฮลท์ สิ่งต่างๆ เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้การดำเนินการในบางจังหวัดที่มีแพทย์ขาดแคลน เราพยามที่จะแก้ไข ให้เกิดความสมบูรณ์และตนมั่นใจว่าระยะหนึ่งถึงสองปีนี้จะเป็นในทางแก้ไขและเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ทุกอย่างสอดคล้องสอดรับกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การหลอมรวมองค์กรทางการแพทย์ให้มีทิศทางเดียวกัน หรือแสวงหาแนวร่วมเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่ดีมาก ตนได้ดำเนินการโดยใช้เอางานเข้ามานำ และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาช่วยทำประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกัน NCDs ขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มารณรงค์การนับคาร์บ (คาร์โบไฮเดรต) ถ้าประชาชนรู้จักการบริโภคคนที่ใกล้จะป่วยบริโภคแป้งหรือน้ำตาลไม่ควรเกิน ร้อยละ 20 ของพลังงานที่จะใช้ในแต่ละวัน การรักษาโรคต้องใช้เงินใช้งบประมาณกว่าร้อยละ 52 เรื่องเหล่านี้ในเรื่องที่สามารถทำได้โดยการร่วมมือร่วมใจกัน
“เราทำงานด้านเดียวไม่ได้ งานที่มีล้นมือ การเพิ่มหมอเพิ่มพยาบาลกว่าจะเพิ่มได้ใช้เวลา 10 ปี แต่ถ้าเราลดคนป่วยให้ได้โดยความร่วมมือร่วมใจขององค์กรต่างๆ ที่ได้พูดคุยกันนี้สามารถ ทำได้ในระยะเวลา 2-3 ปี ก็จะเห็นผล” นายสมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังได้ตอบกระทู้ของ นพ.วีระพันธุ์ สุวรรณนามัย ส.ว. ถึงการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานนอกเวลาของบุคลากรทางการแพทย์ที่มากเกินไปว่า การที่บอกแพทย์ว่าร้อยละ 60 ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 30 ทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การที่ต้องปฏิบัติงานเกินเวลา ยอมรับว่ามีจริง แต่ตัวเลขยังหาต้นตอไม่ได้ว่า เป็นเรื่องที่ใครทำการสำรวจมายังหาไม่พบ โดยชั่วโมงที่ทำงานเกินบางโรงพยาบาลมีแพทย์ 3 คน แบ่งเวรยามกัน ไม่ได้หมายความว่า นั่งทำงาน 24 ชั่วโมง เป็นการตกลงแลกเปลี่ยนเวรยามในการดำเนินการ
“แต่แพทย์ไม่ต้องทำงานอยู่กับที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีห้องพักส่วนตัวในบริเวณโรงพยาบาล ส่วนกรณีคนไข้แออัดหรือทำงานมากเกินไป หรือไม่ก็คิดว่าบางจังหวัดหมอยังขาดแคลน บางส่วนก็มีความพร้อม ทั้งนี้ การปรับแก้ให้เป็นไปตามแนวทางของผู้ตั้งกระทู้แนะนำ คงรวดเร็วไม่ได้ อาจจะต้องมองเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนหนึ่งที่เราทำ NCDs เพื่อต้องลดเวลาของแพทย์พยาบาล ถ้าหากเราทำสำเร็จจะลดได้มาก นอกจากนี้ ก็ยังมีความพยามที่จะเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแล้ว แต่คงต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม จะพยายามถอดแนวคิดต่างๆ เพื่อพิจารณาดำเนินการและให้กระทรวงช่วยดู” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.วีระพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.ตอบกระทู้ก็เกิดความคืบหน้า กระทรวงได้มีการจัดการหลาย มีแอ็กชั่นแพลนเพิ่มขึ้น
“โดยเฉพาะประสาทศัลยแพทย์มีเซอร์วิสแพลน หลังรอคอยมาเป็น 10 ปี ปลัดกระทรวงได้มีการเรียกประชุมในทันที เชื่อว่ามีความตั้งใจจริง และมาถูกทางแล้วในการคอนโทรลเรื่อง NCDs” นพ.วีระพันธุ์ กล่าว