‘ไทย-ศรีลังกา’ เสริมแกร่ง เปิดทาง ‘ครู-กลุ่มทักษะสูง’ เข้าสู่ตลาดแรงงาน
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางเอทิริสิงเห อารัจจิลาเค ศรียานี วิชยันติ เอทิริสิงเห (H.E. Mrs. Edirisinghe Arachchilage Sriyani Wijayanthi Edirisinghe) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย ณ กระทรวงแรงงาน
เพื่อหารือแนวทางขยายความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ พร้อมเน้นย้ำการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติในไทย และสร้างโอกาสการจ้างงานที่โปร่งใส โดยมี ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมให้การต้อนรับ
นายพิพัฒน์ ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณแรงงานศรีลังกาที่เข้ามาทำงานในไทยกว่า 500 คน โดยยืนยันว่าแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ทั้งในเรื่อง สิทธิแรงงานและประกันสังคม พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ศรีลังกาส่ง ครูสอนภาษา เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยสามารถขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ได้ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.โรงเรียนรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะออกใบรับรอง 2.โรงเรียนเอกชน ซึ่งกระทรวงแรงงานสามารถออก Work Permit ได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ พนักงานต้อนรับในโรงแรมจากศรีลังกาเข้ามาทำงานในไทยได้ เนื่องจากไม่ใช่อาชีพที่สงวนให้แรงงานไทย โดยจะอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมแรงงานต่างชาติ
“หากศรีลังกาสนใจส่งแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานด้าน ไอทีและเทคโนโลยี ไทยก็ยินดีพิจารณา ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังต้องการบุคลากรอย่างมาก” นายพิพัฒน์ กล่าวและว่า ได้มอบหมายให้ กพร. ศึกษาหลักสูตรการพัฒนาทักษะแรงงานร่วมกับศรีลังกา เพื่อให้แรงงานไทยและศรีลังกามีทักษะที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานยุคใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้นายจ้างจากศรีลังกาเข้ามาร่วมสอนและพัฒนาแรงงานไทย ทั้งนี้ ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมายาวนาน กว่า 70 ปี แรงงานเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ เราพร้อมร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสให้แรงงานไทยและศรีลังกาเติบโตไปพร้อมกัน
ด้านนางเอทิริสิงเห อารัจจิลาเค ศรียานี วิชยันติ เอทิริสิงเห กล่าวว่า แรงงานศรีลังกาที่ทำงานในต่างประเทศมีมากกว่า 2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 ของแรงงานทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในสาขา แม่บ้าน ช่างไฟฟ้า วิศวกร และพยาบาล ขณะเดียวกัน แรงงานศรีลังกาในไทยมีเพียง 300 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการศึกษาและงานสถาปัตยกรรม จึงขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาเปิดโอกาสให้แรงงานศรีลังกาเข้าสู่ตลาดแรงงานไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุตสาหกรรมบริการ นอกจากนี้ ศรีลังกายังเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้นักศึกษาศรีลังกาได้มาฝึกงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และขอให้ไทยพิจารณาส่งผู้ประกอบการไทยไปศึกษาตลาดแรงงานในศรีลังกา โดยการหารือครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยขยายโอกาสให้แรงงานไทยและศรีลังกา แต่ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างสองประเทศในระยะยาว