กรมศิลปากร ไฟเขียว กทม.ซ่อมเสาชิงช้า หลังพบรอยแตกผุ เปิดเกณฑ์ใช้วัสดุ

กรมศิลปากร ไฟเขียว กทม.ซ่อมเสาชิงช้า หลังพบรอยแตกผุ เปิดเกณฑ์ใช้วัสดุ
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เขตดินแดง นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.)ทำหนังสือถึงกรมศิลปากร แจ้งว่า ได้เข้าสำรวจความเสียหายของโบราณสถานเสาชิงช้า พบว่า ไม้เสาชิงช้าทั้ง 2 ฝั่ง มีรอยแตกและรอยผุ จึงขอให้กรมศิลปากรพิจารณาอนุญาต ซ่อมแซมโบราณสถานเสาชิงช้า

ปัจจุบันกรมศิลปากรพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า เสาชิงช้า เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 188 ฉบับพิเศษ วันที่ 16 พ.ย.2531 เนื่องจากเสาชิงช้าอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายค่อนข้างมาก ควรต้องได้รับการซ่อมแซมโดยเร่งด่วน ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

ADVERTISMENT

จึงอนุญาตให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ดำเนินการซ่อมแชมโบราณสถานเสาชิงช้า โดยขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

1.การซ่อมแชมไม้ส่วนที่ชำรุด ควรซ่อมปรับปรุง (อุด ปะ) และซ่อมเปลี่ยน (ตัดต่อ) ด้วยไม้ชนิดเดียวกับไม้เดิมตามสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง กาวหรือวัสดุเติมเนื้อไม้ ควรใช้ชนิดสำหรับซ่อมไม้โดยเฉพาะซึ่งจะมีความยืดหยุ่นของวัสดุใกล้เคียงกับเนื้อไม้

ADVERTISMENT

2.การต่อชิ้นไม้ด้วยโลหะหรือวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้ ควรใช้ชนิดไร้สนิมที่มีการยืดหดขยายตัว ของวัสดุต่ำ หรือยืดหดขยายตัวใกล้เคียงกับไม้ เพื่อลดการชำรุดของไม้บริเวณรอยต่อในอนาคต

3.การเสริมกำลังหรือความมั่นคงด้วยวัสดุสมัยใหม่ ควรต้องมีการวิเคราะห์ปัญหา เชิงวิศวกรรมที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนก่อนกำหนดใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสริมความมั่นคงโดยไม่จำเป็น

4. การตกแต่งผิวไม้ ควรหลีกเลี่ยงวัสดุตกแต่งผิวที่มีความทึบน้ำสูง เพื่อยอมให้ความชื้น ที่สะสมในเนื้อไม้สามารถระบายออกได้โดยสะดวก ทั้งนี้ วัสดุตกแต่งผิวที่มีความทึบน้ำสูงจะส่งผลต่อการผุชำรุดของไม้โดยตรง

และ5.ดำเนินการสำรวจพร้อมจัดทำแบบสภาพปัจจุบันและความเสียหายที่เกิดขึ้นในองค์ประกอบแต่ละส่วนของเสาชิงช้าโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อนำมากำหนดวัสดุ เทคนิคและวิธีการซ่อมแซมให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงควรทำการวิเคราะห์วิธีการซ่อมแซมที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเดิม พร้อมส่งให้กรมศิลปากรพิจารณาอีกครั้ง

จากนั้นจึงได้ลงพื้นที่ พร้อมด้วย นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่จากสมาคมฯ ขึ้นกระเช้ารถดับเพลิง ไปสำรวจตรวจสอบโครงสร้างเสาชิงช้า บริเวณปลายยอดเสา คานและกระจัง เพื่อหาแนวทางการซ่อมแซมเสาชิงช้าให้มีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมและเพื่อความสวยงามให้อยู่คู่กับกรุงเทพมหานคร

จากการสำรวจตรวจสอบโครงสร้างเสาชิงช้าเบื้องต้น พบว่า ไม้เสาชิงช้าทั้ง 2 ฝั่ง มีรอยแตกและรอยผุ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ทำหนังสือตอบกลับในรายละเอียด หลังสำรวจตรวจสอบโครงสร้างเสาชิงช้าอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเมื่อ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ทำหนังสือตอบกลับ มาแล้ว จะต้องของบประมาณ เพื่อซ่อมแซมปรับปรุงเสาชิงช้าต่อไป เบื้องต้นแนวทางซ่อมแซมและปรับปรุง ต้องค้ำยันก่อนจ้างศึกษาวิธีซ่อม และจ้างซ่อม เพื่อให้เสาชิงช้ามีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมและเพื่อความสวยงามให้อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image