เฉลิมชัยสั่งป่าไม้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบสวนทุเรียนภาคตะวันออก ย้ำห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่กรมป่าไม้ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และนางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหนังสือของกรมป่าไม้ ที่ ทส 1603.3/4067 ลงวันที่ 28 กุมภาพันพันธ์ 2568 และด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.3/4068 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ถึงแนวทางดำเนินการในการป้องกันมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ อธิบดีกรมป่าไม้ และ ผอ. สคทช. ได้ร่วมกันแถลงถึงการแก้ปัญหาการโอนสิทธิซื้อขายเปลี่ยนมือพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
ทั้งนี้ นายสุรชัย เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่กรมป่าไม้นำไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีราษฎรถือครองทำกินมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งสำรวจไว้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายทางอากาศสี Ortho Photo ปี 2545 โดยการอนุญาตตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินตามแนวทางที่ คทช. กำหนดให้ราษฎรได้อยู่อาศัยทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อธิบดีกรมป่าไม้ยังกล่าวถึงผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติว่าคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินได้กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จำนวน 699 พื้นที่ 65 จังหวัด เนื้อที่ 4.07 ล้านไร่ พร้อมกันนี้ จังหวัดได้ยื่นขออนุญาตเพื่อนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จำนวน 3.67 ล้านไร่ ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการในการอนุญาตให้ผู้ว่าราชการการจังหวัดนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนทั้ง 3.67 ล้านไร่แล้ว โดยกรมป่าไม้ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้ว จำนวน 2.99 ล้านไร่ และคณะอนุกรรมการจัดที่ดินได้ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้แก่ราษฎรแล้ว 85,335 ราย 107,454 แปลง เนื้อที่ 602,501 ไร่
“สำหรับการป้องกันมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทางกรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.3/4067 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.3/4068 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ให้ดำเนินการใน 3 แนวทางสำคัญ คือ 1.เร่งรัดดำเนินการในขั้นตอนการจัดที่ดินให้เสร็จสิ้น เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ โดยให้ทำการตรวจสอบคัดกรองผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2.กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินของผู้ได้รับการจัดที่ดินอย่างสม่ำเสมอ และ 3.แจ้งผู้ปกครองท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล มิให้ มีการซื้อขายโอนสิทธิเปลี่ยนมือ หากตรวจพบมีการกระทำผิดเงื่อนไข ข้อกำหนดการใช้ที่ดิน ให้แจ้ง คทช.จังหวัด พิจารณายกเลิกเพิกถอนการจัดที่ดินของราษฎรรายนั้นๆ แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
นายสุรชัย กล่าวว่า ในประเด็นการบุกรุกทำสวนทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. มีข้อห่วงใย และตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามตรวจสอบ โดยประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา และให้กรมป่าไม้รายงานความคืบหน้าทุก 10 วัน ซึ่งที่ผ่านมาร่วม บก.ปทส.จับดำเนินคดีพื้นที่บุกรุกทั้งหมด 14 คดี เนื้อที่ 3,700 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา 1 คดี จ.ตราด 2 คดี และ จ.จันทบุรี 11 คดี มีผู้ต้องหารวมทั้งหมด 11 คน โดยมีทั้งพื้นที่อนุญาต คทช. และพื้นที่สำรวจ คทช.ที่ยังไม่จัดคนลง และอีกส่วนเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งได้จับกุมดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้านนางรวีวรรณ กล่าวว่า เราได้หารือร่วมกันถึงแนวทางแก้ไขปัญหาทุกกลุ่ม สคทช. มีหน้าที่จัดสรรที่กินให้เกษตรยากไร้ตามนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจน การดำเนินการนี้เป็นไปตามคำสั่งอนุโลมให้อยู่ในพื้นที่ป่าตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ต่อเนื่องถึงมติ 26 พฤศจิกายน 2561 มีกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 พื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4, 5 ก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ดำเนินการอนุญาตพื้นที่และจัดคนลง โดยคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวมตามกฎหมายของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ โดยพื้นที่เป้าหมาย 4.1 ล้านไร่ อนุญาตแล้ว 2.92 ล้านไร่ จัดคนลง 85,335 ราย พร้อมทั้งออกสมุดฯ 89,377 เล่ม
นางรวีวรรณ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ดำเนินการอนุญาตพื้นที่และจัดคนลงโดยกรมป่าไม้ โดยกลุ่มที่ 2 เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4, 5 หลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 โดยอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวมตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พื้นที่เป้าหมาย 3.7 ล้านไร่ อนุญาตแล้ว 774 ไร่ จัดคนลง 119 ราย ส่วนกลุ่มที่ 3 พื้นที่ลุ่มน้ำ 1, 2 ก่อนและหลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 อนุมัติตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้รับรองการอยู่อาศัยทำกินแบบแปลงรวม พื้นที่เป้าหมาย 4.9 ล้านไร่อนุญาตแล้ว 4.4 ล้านไร่ จัดคนลง 88,169 ราย ออกสมุดฯ 45,428 เล่ม
ขณะที่กลุ่มที่ 4 เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ดำเนินการอนุญาตพื้นที่และจากคนลง โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินตามผลสำรวจตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2526 และมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 พื้นที่เป้าหมาย 4.2 ล้านไร่ รังวัดและจัดทำเครื่องหมายแนวเขต 224 ป่าอนุรักษ์ 4,042 หมู่บ้าน 4.2 ล้านไร่ ส่วนกลุ่มที่ 5 ดำเนินการอนุญาตพื้นที่และจัดคนลงโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการสำรวจตรวจสอบการครอบครองพื้นที่จัดทำข้อมูลจำแนกตามรูปแบบการใช้ประโยชน์จัดทำแผนการบริหารจัดการและโครงการเพื่อการอนุญาต มีพื้นที่เป้าหมาย 0.85 ล้านไร่ จัดทำข้อมูลจำแนกตามรูปแบบการใช้ประโยชน์แบ่งเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเกษตรกรรม 0.35 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ชุมชนเมืองและสิ่งก่อสร้าง 0.055 ล้านไร่ และยังจะมีกลุ่ม 6 ที่ยังไม่เข้ามาคือพื้นที่ ป่าไม้ถาวร และป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ที่ต้องดำเนินการต่อไป
นางรวีวรรณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คทช.มีข้อมูล รูปพื้นที่รายแปลง และรายชื่อผู้ครอบครองที่สามารถตรวจสอบได้ เฉพาะกลุ่ม 1 เนื้อที่ 4.1 ล้านไร่ที่อนุญาตโดยผู้ว่าฯ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบของ คทช.ได้หรือไม่ ส่วนกลุ่ม 2 และ 3 ไม่ใช่กลุ่มที่ผู้ว่าฯ อนุญาต แม้จะอยู่ภายใต้นโยบาย คทช. แต่เป็นกลุ่มที่กรมป่าไม้อนุญาต ซึ่งพื้นที่บุกรุกที่ จ.ฉะเชิงเทราอยู่ในกลุ่มนี้ หลักการของ คทช.คืออนุญาตเป็นแปลงรวม ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้ตกทอดถึงลูกหลานได้ ซึ่งพื้นที่ที่เป็นข่าวมีสวนทุเรียนทำให้ ผู้ว่าฯ เป็นกังวล เพราะบอกว่าชาวบ้านขายที่ดิน คทช. ซึ่งชาวบ้านที่หวงแหนพื้นที่จำนวนมากห่วงว่าจะกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ ตามข่าวว่ามีการบุกรุก 1,400 ไร่นั้น ขอชี้แจงว่าไม่ใช่ ซึ่งตรวจสอบแล้วผู้ว่าฯ อนุญาตจริงเมื่อปี 2562 เพื่อจัดให้ราษฎรที่มีบัญชีรายชื่อตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 แต่ละครอบครัวให้ครอบครองได้ไม่เกิน 20 ไร่ กรณีดังกล่าวทางจังหวัดพบว่าไม่สามารถจัดให้ราษฎรได้ เพราะครอบครองเกินพื้นที่ และไม่มีใครมาแสดงตัว จึงไม่ใช่การจัดที่ให้ราษฎรแล้วราษฎรเอาไปขาย เนื่องจากยังไม่มีการมาแสดงตัว ผู้ว่าฯ จึงยังไม่ได้ดำเนินการแปลงนี้ ความหมายคืออนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้วแต่ยังไม่จัดคนลง และส่วนที่เหลือก็เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ
“ส่วนเรื่องของกลุ่มทุนต่างชาตินั้น ไม่ใช่อำนาจเราที่จะไปสืบต่อ ประชาชนมั่นใจว่าทาง ปทส.จะสืบสวนต่อว่ากลุ่มทุนคือใคร ต่างชาติบริษัทที่เป็นข่าวก็ติดตามต่อไป แต่ถ้าจบแค่ว่าชาวบ้านขายที่ดิน คทช. ชาวบ้านก็กลายเป็นแพะ เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านด้วย โครงการนี้สร้างประโยชน์และความมั่นคงให้กับชีวิตประชาชน มีตัวอย่างหลายๆ พื้นที่ ราษฎรได้ประโยชน์ลืมตาอ้าปากได้ และมีความหวงแหนพื้นที่” นางระวีวรรณ กล่าว
นางรวีวรรณ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามคนที่ไม่มาแสดงตัวตามมติ 30 มิถุนายน 2541 นั้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะผ่านมา 20 กว่าปี อาจเสียชีวิต หรือไม่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงอาจจะมีแปลงว่างได้ กรมป่าไม้ยินดีว่าจะทำแนวทางปฏิบัติร่วมกัน หากมีแปลงว่างหรือไม่มาแสดงตัว ถ้าผู้ว่าอนุญาตฯ แล้ว ก็อาจจะแขวน 90 วัน แล้วจัดสรรราษฎรยากจนมาลงในแปลงโดยต้องเป็นคนที่ยากจนจริงๆและเป็นคนในพื้นที่
“ความจริงแล้วราษฎรส่วนใหญ่ที่ได้รับที่ดิน ต่างมีความหวงแหนและยินดีกับสิ่งที่ตัวเองได้รับ เนื่องจากที่ได้รับไปนั้นเป็นที่ดินฟรี เปรียบเสมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 คนเหล่านั้นตอนที่ดิฉันลงไปเยี่ยมพื้นที่หลายคนบอกว่า ล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ที่ได้รับมานี้ต้องเอาไปขึ้นเงินให้ได้ โดยหลายพื้นที่พบว่าที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์มีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษออกมามากมาย ได้รับความสนใจจากตลาด และสร้างเงินสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้” น.ส.รวีวรรณ กล่าว
นางรวีวรรณ กล่าวต่อว่า ขอย้ำว่าที่ดินของรัฐทุกประเภทซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ได้ ซึ่งกรณีการขายที่ดิน คทช.ผ่านออนไลน์ จากการที่ให้เจ้าหน้าที่โทรไปตรวจสอบคนขายพบว่าเป็นพื้นที่กลุ่ม 3 ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ขอเตือนประชาชนว่าหากไปซื้อแล้วระวังเสียเงินเปล่า ตนไม่อยากให้ถูกหลอก เช่นเดียวกับกรณี ใบ ภ.บ.ท.5 เรื่องนี้เป็นเฟกนิวส์ ยืนยันที่ดินของรัฐไม่สามารถซื้อขายได้ อันไหนเป็นช่องโหว่ก็ต้องยอมรับร่วมกันว่ามีช่องโหว่จริง เราไม่ได้ปิดบังพี่น้องประชาชน
พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส.กล่าวว่า เราดำเนินคดีร่วมกับป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้เข้าดำเนินการตามข้อร้องเรียน และที่ บก.ปทส.ตรวจพบเอง เราดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ คทช.หรือไม่ โดยมองภาพรวมว่าเป็นพื้นที่ของรัฐก่อน ซึ่งราษฎรใช้สิทธิอะไรเข้ามาครอบครอง มีเอกสารสิทธิ์ใดหรือไม่ หากไม่มีที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดรองรับก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และยืนยันจะขยายผลให้ถึงกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดทั้งคนไทยและต่างชาติ