ส.ว.เทวฤทธิ์ เห็นใจพี่น้องแรงงาน สู้เพื่อสร้างมาตรฐานการจ้างงาน คาใจ ‘งบกลาง’ เข้า ครม.กี่โมง ?
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่บริเวณตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการปักหลักชุมนุมของตัวแทนพนักงาน 4 บริษัท เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างลอยแพเป็นเวลาหลายเดือน
โดยกลุ่มคนงาน 4 บริษัทได้เริ่มชุมนุมเรียกร้อง ครม.อนุมัติงบกลาง ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ จ.สมุทรปราการ แต่ยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร จึงเดินทางมาปักหลักบริเวณทำเนียบตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในวันดังกล่าว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงาน ได้ลงนามเสนอเรื่องของบฯ แล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่วาระ ครม.
ล่าสุดวานนี้ (12 มี.ค.) มาลี เตวิชา ประธานสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์กรุ๊ป ในฐานะตัวแทนพนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ย่านกิ่งแก้ว ได้แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว พร้อมประกาศเริ่มอดอาหารประท้วง ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 จนกว่า ครม. จะอนุมัติงบรายจ่ายกลาง เป็นจำนวนเงินประมาณ 466 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือแรงงานทั้ง 4 บริษัทที่ได้รับความเดือดร้อน
บริเวณโดยรอบมีการแขวนป้ายข้อความ อาทิ ” “อุ้มท้องทวงค่าชดเชย นายกฯ โปรดเห็นใจความเป็นแม่เหมือนกัน, กระทรวงแรงงานรับปากทุกคำ แต่ทำไม่ได้ มีไว้ทำไม, กระทรวงแรงงานอยู่ไหน ช่วยลูกจ้างด้วย นายจ้างลอยแพ 800 กว่าชีวิต, รัฐล้มเหลว แรงงานหิวโซ, นายกฯบอกว่าทุกคนจะมีงานทำ แต่พวกเรากลับถูกเลิกจ้าง, เราก็มีลูกที่ต้องดูแล ตอนนี้ลูกเรากำลังอดตาย ตลอดจนข้อความ ‘สัญญากันแล้ว แต่ทำไมทำร้ายกันแบบนี้’ เป็นต้น ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์ โดยมีการประกาศห้ามชุมนุมในช่วงเช้าของทุกวัน
เวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านหน้าอาคารเก่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ( ก.พ.ร.) กลุ่มคนงาน 4 บริษัทได้ปักหลักโดยนำผ้าใบ สแลน และร่มมาขึง พร้อมปูเสื่อนั่งเป็นสำหรับนั่งและนอนหลบแดด นอกจากนี้ยังมีการนำพัดลมมาติดตั้งเพื่อคลายความร้อน
จากนั้นเวลา 18.15 น. มีการล้อมวงเสวนาแรงงาน-การเมือง บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ในหัวข้อ “ค่าชดเชยทำไมช่างยากเย็น?” โดย วิชัย ตัวแทนอดีตคนงานเส้นใยสังเคราะห์ ย่านรังสิต, วาสนา อดีตคนงานการ์เม้นท์ (อุตสาหกรรมสิ่งทอ) ย่านหลักสี่ และ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมพูดคุย
โดย นายเทวฤทธิ์ กล่าวย้ำถึงทางออกในเรื่องนี้ซึ่งจบง่ายที่สุด ด้วยการที่รัฐบาลให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ จ่ายเงินให้กับผู้เสียหาย ซึ่งผู้ชุมนุมพร้อมที่จะแยกย้ายทันที แต่หากไม่สามารถทำได้ ความรับผิดชอบนี้จะตกเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ตามบทบัญญัติ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อ น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายรายงานเพื่อสิทธิประชาชน ในฐานะพิธีกร สอบถามถึงการใช้ ‘งบประมาณกลาง’ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าสามารถใช้ในการเยียวยาประชาชนได้ หากรัฐบาลใส่ใจที่จะทำอย่างแท้จริง ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ว.) พอจะมีทางออกหรือเป็นไปได้หรือไม่ สำหรับการใช้งบกลาง ?
นายเทวฤทธิ์เผยว่า ความจริงแล้วเพียงแค่จ่ายเงินมา ก็แยกย้ายกลับบ้าน แต่สิ่งที่ทำไม่ได้ใครคือคนต้องรับผิดชอบ ? คือรัฐบาลหรือไม่ เป็นจุดที่ตอบโจทย์ว่าเหตุใด ‘งบกลาง’ จึงมีความเป็นไปได้และครอบคลุมที่สุดในการบริหารจัดการ
“ต้องไปดูว่า การที่เราไม่สามารถได้เงินชดเชยตามกฎหมายจากการถูกเลิกจ้างนั้น เป็นเรื่องที่ข้าราชการ และรัฐบาล จะต้องรับผิดชอบเต็มๆ
จากกรณีการเลิกจ้างนี้ คงเป็นโจทย์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อมาจ่ายค่าชดเชย ต้องไปตามตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการชุมนุมนี้ (นายจ้าง) ถ้าจะโทษใคร ก็ต้องโทษนายจ้าง”
กรณีนี้ประการแรก 1.กฎหมายไม่จ่ายเงินค่าชดเชย 2.เรื่องของการเบี้ยวสัญญาที่วางไว้แล้ว 3 รอบ
นายเทวฤทธิ์กล่าวต่อว่า เหตุที่รัฐบาลต้องจริงจัง เพราะสัญญาหลายรอบแล้ว รัฐบาลชูสโลแกน ‘ คิดใหญ่ ทำเป็น’ ถ้าเช่นนั้นพูดแล้วต้องทำด้วย เพราะเป็นการเรียกร้องในสิ่งที่ควรได้ และเป็นสิ่งที่รัฐพึงกระทำ ตามรัฐธรรมนูญ
“นี่คือหน้าที่ที่ต้องทำ ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่ทำ ‘รัฐคือจำเลยที่สอง’ หากเรียกนายจ้างมาจ่ายไม่ได้ ต้องหาทางรับผิดชอบ ทางออกที่เราเสนอคือ ‘งบกลาง’ ซึ่งเรียกร้องมาหลายครั้ง ยื่นหลายครั้ง ผู้มีอำนาจก็ให้คำมั่นเราหลายครั้งแล้ว แต่ไม่รู้ว่ากี่โมง? รับปากว่าจะเข้า ครม. ผมก็หวังว่าจะดำเนินการจริง” นายเทวฤทธิ์กล่าว
นายเทวฤทธิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับ ฝ่ายปฏิบัติการ อาจจะทำอะไรเอาใจนาย (ประกาศห้ามชุมนุม) แต่ก็ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า เอาใจนายเมื่อไหร่ นายของคุณก็จะต้องมาให้การศึกษากับกรรมาธิการ
“เราจะเชิญมาถาม ว่าการที่คุณห้ามประชาชนใช้สิทธิชุมนุมแบบนี้ คุณพร้อมจะให้เรา ทำการศึกษาตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่ ขอฝากไว้ ใครที่อยากเอาใจนาย เราจะเชิญไปให้การศึกษา กับพวกเราในคณะกรรมาธิการ”
“อีกส่วน หากใครละเมิดสิทธิการชุมนุม ก็จะเชิญไปให้การศึกษา กับพวกเราเช่นกัน รวมถึงเราจะถามนายกฯ ว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ สิทธินี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญ
ถ้าเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน หัวใจของท่านมานั่งอยู่ตรงนี้แล้ว” นายเทวฤทธิ์กล่าว
นายเทวฤทธิ์กล่าวว่า อีกประการหนึ่ง ‘งบกลาง’ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งมีเงื่อนไขหนึ่งคือ เพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติร้ายแรง ซึ่ง ‘การตกงาน’ ก็นับว่ากระทบกับชีวิตอย่างจำเป็นเร่งด่วนเช่นกัน ดังนั้น ตนจึงหวังว่า กรณีนี้จะได้รับการเยียวยาในเร็ววัน
“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรจะได้ ฝั่งนายจ้างเองเขาก็มีทรัพย์สิน ซึ่งข้อหามันจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘ลักทรัพย์นายจ้าง’ โทษร้ายแรงมาก ซึ่งเรื่องจ่ายค่าชดเชย เป็นทรัพย์ที่เราพึงจะได้ แต่กลับไม่ได้ มันต่างกันมากเวลา ‘นายจ้างลักทรัพย์’
ดังนั้น การแก้ไขบทลงโทษเกี่ยวกับการเบี้ยวจ่ายเงินชดเชยของนายจ้าง เป็นอีกเงื่อนไขที่จะต้องพิจารณา เพื่อให้นายจ้างจริงจังมากขึ้น ในการกันเงินไว้ หากรู้ตัวว่าจะล้มละลายหรือเลิกกิจการ”
นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขระดับสากล ที่ให้สิทธิการเป็นเจ้าหนี้อันดับแรก โดยให้ธนาคาร และสถาบันทางการเงินก่อน ทั้งที่แรงงานควรจะเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น หากไม่อยากให้เผชิญหน้ากับชะตากรรมเช่นเดียวกันนี้ ก็ต้องสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายและสิ่งหนึ่งที่จะแก้ได้ดี คือ
1.การรับเอามาตรฐานสากล ‘อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ มาตรา 173 ว่าด้วยเรื่องคุ้มครองสิทธิคนทำงาน’ ที่ถูกเลิกจ้าง หรือบริษัทล้มละลาย เพื่อที่จะมีกฎหมายรองรับ
2.กองทุนประกันความเสี่ยง ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้
3.ฝั่งนายจ้างต้องเปิดข้อมูลให้รู้สถานะของบริษัทอย่างตรงไปตรงมา ในฐานะที่แรงงานเป็นหุ้นส่วนสำคัญ และเป็นคนที่สร้างบริษัทขึ้นมาจากกำไรที่เราสร้างได้ จึงมีความชอบธรรม รวมทั้งชอบธรรมในการชุมนุมที่นี้ด้วย
ในช่วงท้าย นายเทวฤทธิ์กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนงาน จะเป็นการสร้าง ‘มาตรฐานเกี่ยวกับการจ้างงาน’ ซึ่งการที่เรามาอยู่ที่นี่ เอาประเด็นมาให้ ข้าราชการก็ควรตระหนักถึงสิทธินั้น และควรเอาใจช่วย
“การจะมาเลิกจ้างโดยอำเภอใจ ไม่มีหลักประกันไม่ได้ เราทำเพื่อตั้งมาตรฐานทางสังคม หากล้มละลาย แล้วไม่ชดเชยค่าเยียวยา ทำไม่ได้ เรากำลังสู้เพื่อประโยชน์ของคนงานทุกคน คนงานออฟฟิศ คนงานคอปกขาว คนงานในโรงงาน
สู้เพื่อสิทธิลาคลอด พนักงานออฟฟิศก็ได้ด้วย เรื่องหลักประกันว่าจะไม่มีการลอยแพ ถ้าเราชนะ คนงานอื่นๆ ก็ชนะ โปรดจงเห็นใจ เข้าใจ และเป็นกำลังใจให้พี่น้องที่อยู่ตรงนี้ด้วย” นายเทวฤทธิ์กล่าว