เปิดรายละเอียด ร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อฯ ฝ่าฝืนโทษทั้งจำ-ปรับ พร้อมชวนแสดงความเห็นได้ถึง 10 เม.ย.นี้

เปิดรายละเอียด ร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อฯ ฝ่าฝืนโทษทั้งจำ-ปรับ พร้อมชวนแสดงความเห็นได้ถึง 10 เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคไม่ติดต่อ พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ.โรค NCDs ซึ่งจัดทำโดยกองกฎหมาย กรมควบคุมโรค ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th และ https://laws2.ddc.moph.go.th ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2568 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่เป็นหรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อ โดยกรมควบคุมโรคจะนำข้อมูล หรือความคิดเห็นของประชาชนไปพิจารณาประกอบการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป โดยดูรายละเอียดเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นผ่านทาง https://shorturl-ddc.moph.go.th/VqUPX

สำหรับร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ พ.ศ. … มีสาระสำคัญ อาทิมาตรา 3 คำว่า “โรคไม่ติดต่อ” เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโรคที่ยาวนาน มีสาเหตุอันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยง และไม่สามารถแพร่หรือส่งต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้โดยตรง หรือผ่านตัวนำโรค แบ่งเป็น 5 หมวด ไม่รวมบทเฉพาะกาล อาทิ
หมวด 1 เป็นบททั่วไป

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคไม่ติดต่อ รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล หรือการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ซึ่งเป็นหรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อได้แล้วแต่กรณี

ADVERTISMENT

มาตรา 7 บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ โดยหน่วยบริการตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ทั้งนี้ หน่วยบริการต้องจัดให้มีการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อด้วยการบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อที่บุคคลมีสิทธิได้รับและการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 8 ค่าใช้จ่ายจากการได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อของบุคคลตามมาตรา 7 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขการได้รับสวัสดิการหรือสิทธิตามกฎหมายในการได้รับการบริการสาธารณสุขของบุคคลนั้น ค่าใช้จ่ายจากการได้รับบริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อตามวรรคหนึ่ง อาจขยายให้ได้รับนอกเหนือ หรือเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้สำหรับการได้รับสวัสดิการหรือสิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุขก็ได้
มาตรา 9 บรรดาข้อมูลส่วนบุคคลจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ถือเป็นความลับ

ADVERTISMENT

หมวด 2 คณะกรรมการนโยบายโรคไม่ติดต่อแห่งชาติ

มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

สำหรับกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านการแพทย์ ด้านการสาธารณสุข ด้านกฎหมาย ด้านการศึกษาและสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านละ 1 คน ให้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้

หน้าที่ของคณะกรรมการฯ อาทิ เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนระดับชาติว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อ รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสุขภาพ ฯลฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ กำหนดแนวทางปฏิบัติ ระบบ และมาตรการด้านต่างๆ เสนอต่อ ครม.ให้มีการตราหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อ และเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกประกาศ และระเบียบ กำหนดแนวทางสนับสนุนต่างๆ เป็นต้น

หมวดที่ 3 การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อ

มาตรา 20 ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันหรือควบคุมโรคไม่ติดต่อ

มาตรา 21 ให้สถานศึกษาดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันหรือควบคุมโรคไม่ติดต่อในสถานศึกษาของตน เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคไม่ติดต่อในสถานศึกษาแก่บุคลากรทางการศึกษา หรือบุคลการอื่นใดที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา และจัดให้มีอาหารตามหลักโภชนาการ เป็นต้น

มาตรา 22 ให้สถานประกอบกิจการดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการ เช่น จัดให้มีการแจ้งหรือการเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นหรือมีความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ จัดให้มีอาหารตามหลักโภชนาการ สภาพแวดล้อม การตรวจคัดกรองสุขภาพ และระบบเพื่อการดูแล ช่วยเหลือให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งได้รับความยินยอมให้ทำงานหรือทำผลประโยชน์ให้แก่สถานประกอบกิจการหรือในสถานประกอบกิจการ
ทั้งนี้ ประเภท ขนาด หรือลักษณะของสถานประกอบกิจการและการดำเนินการของสถานประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

หมวดที่ 5 บทกำหนดโทษหากผู้ใดปฏิบัติหรือฝ่าฝืนตามหมวด 3 จะมีบทลงโทษ เช่น

มาตรา 27 ผู้ให้ให้บริการสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อไม่เป็นไปตามเกณฑ์ มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5 หมื่นบาท

มาตรา 29 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 มาตรา 21 หรือมาตรา 22 มีความผิดตามพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5 หมื่นบาท

มาตรา 31 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม

มาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image