‘พิพัฒน์’ ยันไม่ปล่อยผ่าน สั่งตรวจแรงงานจีนผิด กม.ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ทันที พบผิด 9 ราย
วันนี้ (26 มีนาคม 2568) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภายหลังที่ตนได้ยืนยันชัดเจนต่อสื่อมวลชนที่สภาผู้แทนราษฎรว่า “แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ไม่เคยเป็นเรื่องที่กระทรวงนิ่งเฉย หรือปล่อยให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง” ทั้งนี้ ได้สั่งการด่วนให้ชุดเฉพาะกิจ “ไตรเทพพิทักษ์” ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการของจีนใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังมีการร้องเรียนว่ามีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย
“การปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการสนธิกำลังระหว่างชุดเฉพาะกิจภาคตะวันออก ภายใต้การอำนวยการของนายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พ.ต.ท.อำนาจ ชูกลิ่น หัวหน้าชุดเฉพาะกิจภาคตะวันออก ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางฯ กรมการจัดหางาน (กกจ.) เข้าตรวจสอบพื้นที่ ต.บ่อวิน จ.ชลบุรี พบแรงงานผิดกฎหมาย 9 ราย เป็นชาวจีน 4 ราย เมียนมา 4 ราย และกลุ่มชาติพันธุ์ 1 ราย โดยพบการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต และแย่งอาชีพคนไทย เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้กระทำผิดส่ง สภ.บ่อวิน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว” นายพิพัฒน์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไม่ได้เพิ่งลงไปตรวจหลังการอภิปราย แต่ตรวจจับอยู่ตลอด
“ตรวจจริง เจอจริง ดำเนินคดีจริง และพร้อมผลักดันออกนอกประเทศหากผิดกฎหมาย เราไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันจะปกป้องอาชีพของแรงงานไทยอย่างถึงที่สุด โดยข้อมูล กกจ.ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานจีนที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทยกว่า 50,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ EEC แต่ยังมีแรงงานจีนลักลอบเข้ามาทำงานด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคบริการ ร้านอาหาร ก่อสร้าง และธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเข้าข่ายแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งในระหว่างเดือนมิถุนายน 2567 ถึง เดือนมีนาคม 2568 กระทรวงแรงงานได้ตรวจสถานประกอบการกว่า 52,000 แห่ง พบกระทำผิด 2,010 ราย และตรวจแรงงานกว่า 724,000 คน และชุดเฉพาะกิจไตรเทพพิทักษ์ ตรวจแรงงานจีนเฉพาะกลุ่มกว่า 2,198 ราย พบกระทำผิด 207 ราย” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยไม่ปิดรับนักลงทุนต่างชาติ แต่ต้องอยู่บนกติกาเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจของจีนจำนวนมากที่ใช้คนจีนทั้งระบบ ตั้งแต่ทุน วัตถุดิบ แรงงาน จนถึงร้านค้าปลีก โดยไม่พึ่งพาแรงงานไทยเลย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากและโอกาสการจ้างงานในท้องถิ่น กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางเร่งด่วน เช่น การตรวจสอบนอมินี ร้านแฝง ทบทวนโควตาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เปราะบาง ส่งเสริมการจ้างแรงงานไทยทดแทนในบางอาชีพ และขยายการตรวจเข้มในพื้นที่ EEC และเมืองท่องเที่ยว เป็นต้น
“เรารู้ปัญหามานาน และกำลังจัดการอย่างจริงจัง ถ้าฝ่ายใดมีข้อมูลเพิ่มเติม เรายินดีรับฟังและดำเนินการต่อทันที แต่ขอย้ำว่า กระทรวงแรงงานไม่เคยนิ่งเฉย และไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้ใคร” นายพิพัฒน์ กล่าว