ทันตแพทยสภา เสนอ 3 ทางเลือก ให้ประกันสังคม ปรับปรุงบริการทำฟันให้ผู้ประกันตน
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม รศ.ดร.ทพ.ไชยรัตน์ เฉลิมรัตน์โรจน์ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในประเด็นสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านการรักษาทันตกรรม เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า เป็นครั้งแรกที่ทันตแพทยสภาได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งทางทันตแพทยสภาอยากเข้ามาช่วยการจัดระบบบริการ และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านทันตกรรม นอกจากนั้น ยังได้มีการหารือเรื่องนิยามคำว่า “โรคในช่องปาก” ที่จะต้องมีการรักษาและอยู่ในสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการหารือร่วมกัน
รศ.ดร.ทพ.ไชยรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นหลักที่พบว่ามีปัญหาคือ เมื่อเปรียบเทียบผู้ประกันตนตามกลุ่มระดับเศรษฐานะ กลับพบความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการทันตกรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน ยิ่งจนยิ่งเข้าถึงบริการน้อย แม้ในช่วงปี 2560 สปส.จะมีการปรับเพิ่มเพดานการเบิกค่าทำฟันขึ้นมาเป็นไม่เกิน 900 บาท/ปี แต่ผลลัพธ์ของนโยบายต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพบเพียงในช่วงปีแรก และเมื่อเวลาผ่านไป ความเหลื่อมล้ำนี้ก็กลับมาเป็นเช่นเดิม
ทั้งนี้ ทันตแพทยสภา ได้เสนอ 3 แนวทางให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรม โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกันตนที่มีระดับเศรษฐานะต่างกัน ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำสำหรับกลุ่มผู้ประกันตนที่มีระดับเศรษฐานะด้อยกว่า ด้วยกว่าเปิดโอกาสให้รับบริการในภาครัฐได้ไม่จำกัดวงเงิน โดยปรับใช้แนวคิดของสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
1.สำหรับสิทธิทันตกรรมในสถานพยาบาลเอกชน ให้คงสิทธิ 5 รายการ ภายใต้วงเงินไม่เกิน 900 บาท/ปี เช่นเดิม
2.สถานพยาบาลของรัฐ ให้เพิ่มสิทธิในการรับบริการ โดยให้สามารถเบิกได้ตามอัตราไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ และไม่มีข้อจำกัดด้านวงเงิน เช่นเดียวกับสิทธิข้าราชการ
3.ให้ปรับเพิ่มวงเงินสำหรับฟันเทียมถอดได้ และปรับจากเดิมที่ให้เป็นซี่ฟัน ให้จ่ายเป็นชิ้นงานทั้งขากรรไกรบนและล่าง
ทางเลือกที่ 2 มุ่งเพิ่มการเข้าถึงสำหรับผู้ประกันตนทุกกลุ่ม ด้วยการเอื้อให้ใช้บริการในภาคเอกชนได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยปรับใช้แนวคิดเดียวกับคลินิกนวัตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งให้สิทธิในการเข้ารับบริการ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลาย ที่หน่วยบริการภาคเอกชน ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง
1.ในครั้งแรกจะมีการตรวจฟันทุกซี่และทำแบบประเมินความเสี่ยงฟันผุพร้อมการให้ทันตกรรมป้องกันตามความเสี่ยง
2 กำหนดอัตราการจ่ายให้คลินิกเป็นต่อครั้ง (per visit) ที่ 700 – 900 บาท
3.คงสิทธิการทำฟันเทียมไว้ และปรับให้เป็นการจ่ายเป็นชิ้น เพื่อให้ทำฟันเทียมได้ทั้งบนล่าง
ทางเลือกที่ 3 มุ่งสร้างสมดุลของระบบประกันสุขภาพกับตลาดบริการทันตกรรมในระยะยาว โดยใช้แนวคิดเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นและยุโรป ที่กำหนดราคากลางในการรักษา
และให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย
1.กำหนดราคากลางของอัตร่าค่าบริการทันตกรรมพื้นฐาน ในคลินิกที่เข้าร่วมให้บริการ
2.กำหนดอัตราที่ร่วมจ่าย อาทิ ร้อยละ 20-30 ของอัตราค่าบริการที่เป็นราคากลาง
3.ผู้ประกันตนได้รับบริการตามโรคในช่องปากที่เป็นโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง