ชัชชาติ แจง แผ่นดินไหวเตือนล่วงหน้าไม่ได้กำชับ ผอ. 50 เขตดูแลปชช.ใกล้ชิด ตึกสร้างหลังปี 50 เชื่อปลอดภัย ห่วงตึกกำลังสร้าง โครงสร้างยังไม่สมบูรณ์
เนื่องด้วยวันที่ 28 มีนาคม เวลาประมาณ 13.20 น. เกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา ส่งผลกระทบกับหลายจุดทั่วประเทศ โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการกรุงเทพฯ จึงประกาศให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็น ‘เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย’ เพื่อให้ส่วนราชการหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าวนั้น
เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ชั้น 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ ทั้ง น.ส.ทวิดา กมลเวช, นายศานนท์ หวังสร้างบุญ, นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าฯกทม., นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ, นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายชัชชาติกล่าวตอนหนึ่งว่า เบื้ยงต้นต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาคารว่ามีการแตกร้าวรุนแรงหรือไม่ หากไม่เสียหายรุนแรงสามารถเข้าสู่พื้นที่ได้
“ส่วนอาฟเตอร์ช็อกเราไม่มีการยืนยัน ที่บอกว่าเกิดขึ้นหลัง 1 ชม. ไม่มีใครทราบได้ ไม่มีใครรู้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และตามหลักวิชาการอาฟเตอร์ช็อกมีอาการน้อยกว่าครั้งที่ 1 เพราะแผ่นดินไหวตัวแรกได้ปล่อยพลังงานสะสมไว้ออกมาเป็นจำนวนมากแล้ว หากมีอาฟเตอร์ช็อกส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนอาคารใน กทม.ส่วนมากมีการรับแผ่นดินไหวได้ แล้วป้องกันได้สูงกว่าตัวเลขแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ส่วนอาคารที่กำลังก่อสร้างเป็นอาคารที่มีความเปราะบาง ระบบยังไม่คอมพลีต จะเปราะบางกว่าอาคารอื่น
ส่วนโรงพยาบาลได้อพยพผู้ป่วยฉุกเฉินออกมาแล้ว ให้แต่ละเขตดูแล ตรวจสอบว่ามีอาคารเกิดมีรอยร้าวรุนแรงหรือไม่ เช่น ตัวเสาและอาคาร ถ้าไม่รุนแรงสามารถนำผู้ป่วยกลับเข้าสู่อาคารได้ และให้การช่วยเหลือ และผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นสามารถกลับบ้านได้
ด้านการจราจรรถไฟฟ้า BTS MRT ยังหยุดให้บริการอยู่เพื่อความปลอดภัย แต่ไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น แต่หยุดเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน
“อาคารที่ร้าวอย่าพึ่งตกใจ จริงๆ ที่ร้าวอาจจะไม่ใช่โรงสร้างหลัก อาจจะเป็นกำแพง เมื่ออาคารโยก โครงสร้างก็อาจจะยังแข็งแรงอยู่ ผนังไม่ใช่ส่วนรับน้ำหนัก ฉะนั้นอาจะไม่มีผลต่อโครงสร้าง จุดฝ้าเพดานถล่ม และเหตุการณ์อื่นยังไม่ใช่เหตุการณ์รุนแรง อยู่ภายใต้การควบคุมได้” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนการรื้อถอนอาคารจากการพังทลายของอาคารสำนักงาน สตง.จตุจักร เป็นการพังทลายแบบแพนเค้ก จาก 33 ชั้น เป็นการยุบรวมลง ซึ่งการรื้อคงค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อถามว่า อาคารก่อสร้างก่อนปี 2550 จะต้องมีการตรวจสอบอะไรหรือไม่?
นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า จะเริ่มดำเนินการตรวจสภาพด้วยสายตาก่อนว่ามีโครงสร้างสำคัญ เช่น เสาและคาน มีรอยร้าวหรือรอยเสียหายหรือไม่
ด้านนายชัชชาติกล่าวเสริมว่า ต้องเรียนว่า ก่อนหน้าปี 2550 ก็มีการออกแบบเผื่อเอาไว้แล้ว เฉพาะใน กทม. กล่าวคือ แรงแผ่นดินไหวกับแรงลมมีความคล้ายคลึงกัน เป็นแรงด้านข้างเหมือนกัน เราจึงมีการออกแบบรับแรงลมเผื่อไว้หลายด้าน จึงเชื่อว่าปลอดภัยดี
“แผ่นดินไหวครั้งนี้ผมว่าเป็นบทเรียนหนึ่งที่เราเจอของจริง อาคารส่วนใหญ่ 100% ที่สร้างเสร็จแล้วยังไม่มีปัญหา ไม่มีการถล่ม
แต่เราไม่ประมาท จะไปตรวจโครงสร้างทุกโครงการที่ กทม.ดำเนินอยู่ อย่างสะพาน, อุโมงค์ระบายน้ำ ท่าน ผอ.สำนักการโยธาไปตรวจแล้วไม่มีปัญหา ได้รับทราบว่า เราเข้าตรวจโรงพยาบาลทั้งหมดของ กทม.เรียบร้อยแล้ว ไม่มีความเสียหายรุนแรง ผู้ป่วยทั้งหมดกลับเข้าโรงพยาบาลได้ สถานการณ์ไม่น่าเป็นกังวล และจะเริ่มช่วยตรวจโรงพยาบาลอื่นต่อไป ประสานเข้ามาได้” นายชัชชาติกล่าว
ส่วนระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ และการรวบรวมข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสรุปเกิดเหตุที่ไหน เป็นอย่างไร ต้องใช้เวลา แต่เมื่อเรารู้ข้อมูล เราจะประกาศเตือนภัยทันที ไม่เหมือนพายุ ลม ฝนต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เราจะรับไปปรับปรุงและพัฒนา” นายชัชชาติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติได้เรียกประชุมผู้อำนวยการเขต 50 เขต รายงานเหตุการณ์ในพื้นที่จากเหตุแผ่นดินไหว กำชับเร่งดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังสั่งเปิดสวนสาธารณะตลอดคืน พร้อมนำรถน้ำดื่ม/รถสุขา ดูแลประชาชนที่พักรอ เนื่องจากการจราจรติดขัด หรือไม่สามารถกลับเข้าที่พักได้สะดวก ได้แก่ สวนลุมพินี สวนเบญจสิริ สวนเบญจกิติ สวนจตุจักร