เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช กล่าวว่า เนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้น รวมถึงการเกิดอาฟเตอร์ช็อก อีกหลาย ๆ ครั้งติดต่อกัน ดังนั้น หากครอบครัวท่านมีเด็ก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนเตรียมความเข้าใจ พูดคุยและฝึกซ้อมกันไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวขึ้นอีกในอนาคต จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ 6 วิธีรับมือภัยพิบัติ ดังนี้ 1.สังเกตความผิดปกติรอบตัว 2.ตรวจสอบสภาพแวดล้อมของบ้าน ที่ทำงาน 3.ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ประกาศเตือนภัย 4.เตรียมสิ่งของไว้ใช้ยามเกิดภัย เช่น อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยา 5.ศึกษาการอพยพหนีไฟ เส้นทางหนีภัย และ 6.จดจำหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานสำคัญ เช่น สายด่วนนิรภัย 1182
พญ.สิริรักษ์ กล่าวต่อว่า วิธีซ้อมวางการแผนข้อปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นในอนาคต คือ 1.กำหนดวิธีการติดต่อกับครอบครัว และเพื่อนของท่านในยามเกิดภัยพิบัติ กำหนดจุดนัดพบไว้ล่วงหน้าหากพลัดหลงกัน 2.ครอบครัวที่มีเด็ก ให้สอบถามวิธีติดต่อสื่อสาร และการรับบุตรหลานจากโรงเรียนกับครูอาจารย์ไว้ล่วงหน้า และ 3.เตรียมสิ่งของจำเป็น ที่ต้องนำติดตัวไว้ให้พร้อม และวางไว้ในที่ที่เข้าใจง่าย ทั้งสำหรับตนเองและคนในครอบครัวทั้งนี้ พญ.สิริรักษ์ กล่าวว่า การรับมือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวยึดหลัก “หมอบ – กำบัง – ยึดจับ” (Drop – Cover – Hold on) สำหรับหากท่านอยู่ในอาคาร ไม่ควรหลบหนีออกนอกตัวอาคารทันที ให้รอจนกว่าแผ่นดินหยุดไหวก่อน แล้วหลบหนีด้วยประตู หรือทางเดินหนีไฟ, ระมัดระวังสิ่งของตกหล่น เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านล้มทับ ให้หลบเข้าใต้โต๊ะ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยของท่าน, เมื่อแผ่นดินหยุดไหวแล้ว ให้ดับแก๊สและถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทันที, หากหนีออกนอกตัวอาคารแล้ว ควรระวังการบาดเจ็บจากหน้าต่างบานกระจก หรือป้ายต่าง ๆ ที่ร่วงลงมาได้, ก่อนหลบหนีออกนอกตัวอาคาร หากทำได้ให้ปิดเบรกเกอร์ไฟก่อนด้วย ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด
กรณีที่อยู่นอกอาคาร ควรปกป้องศีรษะและรีบหลบหนีไปยังที่ปลอดภัย, ออกห่างจากผนังตึก และบริเวณก่อสร้างที่เสี่ยงต่อการเกิดถล่มได้ และ หากกำลังขับขี่ยานพาหนะ ให้จอดรถในที่ปลอดภัยค่อนข้างโล่ง ไม่ใกล้อาคาร ดับเครื่องยนต์ และหลบหนีไปยังที่ปลอดภัย ทั้งนี้ เมื่อหลังจากเกิดแผ่นดินไหว หากได้กลิ่นคล้ายแก๊ส ห้ามจุดไฟเด็ดขาด ท่อแก๊สอาจแตกหัก และรั่วเข้าไปในที่ท่านอาศัยอยู่ได้ โดยให้เก็บน้ำปริมาณมากไว้ในภาชนะขนาดใหญ่ด้วย บางกรณีท่อน้ำอาจแตก น้ำประปาอาจไม่ไหลได้
“แม้ว่าในขณะนี้ภัยโดยตรงจากแผ่นดินไหวได้เริ่มสงบลงแล้วก็ตาม แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์เศร้าสลด ยังอาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อตามมาได้ ดังนั้นโรคที่ควรต้องเฝ้าระวังหลังเกิดภัยพิบัติ เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้ไทฟอยด์, โรคปอดอักเสบ, แผลผิวหนังอักเสบติดเชื้อ รวมถึงบาดทะยัก, โรคตาแดง และ ภาวะ PTSD ความเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง อย่างไรก็ตามอยากให้ทุก ๆ ท่านอย่ามัวห่วงทรัพย์สิน ในช่วงการเกิดภัยพิบัติ อยากให้ห่วงชีวิตตน และคนในครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อกรณีต้องการความช่วยเหลือหรือเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินโรงพยาบาลนวเวช โทร 02 483 9944 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” พญ.สิริรักษ์ กล่าว